หมอหนุน อภ.-อย. ควบคุมการใช้ ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ แต่ใช้รักษามะเร็งยอมรับไม่คุ้นเคย

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่อาคารเฉลิมพระบารมี  ๕๐ ปี  ซอยศูนย์วิจัย  รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยและหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ แถลงข่าว เรื่อง“แนวทางการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคมะเร็ง”และบทบาทของ”กัญชา”กับโรคมะเร็ง จัดโดย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ว่า ปัจจุบันหลายประเทศมีการเอากัญชาไปใช้ทางการแพทย์มาก ประเทศไทยก็อยู่ระหว่างแก้กฎหมายและมีองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ได้ทำการพัฒนาอยู่ อย่างไรก็ตาม หากเอามาใช้สำหรับการรักษาโรคระบบประสาทอาจจะได้ผล แต่สำหรับการใช้เกี่ยวกับโรคมะเร็งนั้น มีการเอามาใช้ลดอาการข้างเคียงจากเคมีบำบัด ลดอาเจียนได้ แต่ประสิทธิภาพก็ไม่ได้แตกต่างจากยาที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นถ้าเอาน้ำมันกัญชามาให้หมอมะเร็งใช้ส่วนตัวก็คงไม่ใช้ เพราะยังไม่คุ้นเคย แต่ยาเดิมเรารู้ว่าใช้อย่างไร ปรับสูตรอย่างไร หากจะให้ใช้น้ำมันกัญชาคิดว่าต้องศึกษามากกว่านี้ ไม่ใช่บอกว่าปลดล็อกกฎหมายแล้วใช้เลย และมองว่าเรื่องการแก้กฎหมายเอากัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้นควรเป็นลักษณะการคลายล็อก ใช้และควบคุมโดยองค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เหมือนมอร์ฟีน แต่ตอนนี้เมืองไทยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) คือคนควบคุมกัญชา

รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวอีก  อย่างไรก็ตาม สำหรับการนำกัญชารักษาตัวโรคมะเร็ง ก้อนมะเร็งนั้นยืนยันว่ามีการทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่มีหลักฐานการเอามาใช้ในคนจริงๆ ไม่มีผลในการรักษามะเร็งแต่อย่างใด ในทางกลับกัน พอเลิกใช้ยังทำให้มีอาการอยากยา ปัญหาคือตอนนี้มีการพูดถึงกันมาก แล้วทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปหามาใช้ ซึ่งตนมีคนไข้หลายคนที่ญาติต้องหามมาพบแพทย์ด้วยอาการซึม ไม่รู้สึกตัว เพราะใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินหยดโดยไม่มีความรู้ว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่ บางคนบอกว่าใช้เพื่อลดความเจ็บปวด แต่ก็ไม่ได้ช่วย จะไม่รู้สึกเจ็บเพียงแค่ตอนหลับเท่านั้น ก้อนมะเร็งไม่ยุบ ไม่หาย พอได้รับการรักษามาตรฐานก็กลับมาใช้ชีวิตได้ ไม่ต้องหลับๆ ตื่นๆ เพราะฤทธิกัญชา ลูกวัย 3 ขวบขึ้นไปบนตัวยังไม่รู้สึก ไม่ได้กอด ไม่ได้เล่นด้วย แบบนี้ก็ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้หรือไม่

ด้าน ผศ.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์สเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสเต็มเซลล์กับการรักษาโรคมะเร็งว่า การนำสเต็มเซลล์มาใช้ในโรคมะเร็งที่เป็นที่ยอมรับ เป็นการใช้สเต็มเซลล์เลือดปลูกสร้างระบบเลือดให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดจนระบบเลือดเสียไป ไม่ใช่ใช้สเต็มเซลล์ไปฆ่ามะเร็งโดยตรง ในทางตรงข้ามสเต็มเซลล์บางชนิดเป็นเซลล์พี่เลี้ยงที่ดี ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยโดยไม่เกิดประโยชน์ หรือแม้แต่ในหลอดทดลองก็ไม่เคยพบว่าสเต็มเซลล์มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ทั้งนี้ สเต็มเซลล์แต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน สเต็มเซลล์จะมีน้อยมากในแต่ละระบบของร่างกาย อยู่ในที่เฉพาะและทำหน้าที่สร้างเซลล์เฉพาะ เช่น สเต็มเซลล์ในไขกระดูก ก็จะสร้างเลือด ไม่สามารถสร้างเซลล์สมองได้ เป็นต้น “พูดได้เลยว่าคลินิกหรือสถานที่ต่างๆในเมืองไทยที่มีการโฆษณาว่ามีฉีดสเต็มเซลล์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แพทยสภารับรองการใช้สเต็มเซลล์เฉพาะการรักษาในระบบเลือดเท่านั้น ” ผศ.นพ.นิพัญจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image