‘ไทย-อิสราเอล’ ชื่นมื่น ผลเจรจาด้านแรงงานลงตัว

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ ได้เข้าหารือข้อราชการกับ Mr.Aryeh Deri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอิสราเอล ณ กรุงเยรูซาเร็ม ประเทศอิสราเอล

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลอิสราเอลที่ได้เปิดโอกาสให้แรงงานไทยจำนวนมากเข้ามาทำงานในประเทศอิสราเอลในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้แรงงานไทยสามารถสร้างรายได้ ส่งเงินกลับประเทศไทยเพื่อจุนเจือครอบครัว ได้รับประสบการณ์ และองค์ความรู้เทคโนโลยีภาคเกษตรชั้นสูงของอิสราเอล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกลับไปเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Start up) ด้านการเกษตร ช่วยขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล รวมทั้งขอบคุณ PIBA ที่ได้ดูแลและคุ้มครองแรงงานไทยร่วมกับฝ่ายแรงงานฯ มาโดยตลอด

Advertisement

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิสราเอล ว่า รัฐบาลอิสราเอล และสภาอิสราเอลได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนปิซูอิม (Deposit Fund) ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุน เมื่อคนงานทำงานครบสัญญาจ้างงาน จะได้รับเงิน 1 เดือนต่อการทำงานครบ 1 ปี

“นอกจากนี้ ผมยังได้ฝากเจ้าหน้าที่ดูแลคุ้มครองแรงงานไทย โดยขอให้ดำเนินการต่อนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และให้มีการขึ้นบัญชีดำ (Black list) กับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิสราเอลยืนยันที่จะดูแลสวัสดิการ สุขภาพ ที่พักอาศัยของแรงงานไทยให้ โดยจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบนายจ้างให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนปัญหายาเสพติดนั้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงจะเข้มงวดกับการตรวจสอบแรงงานไทยทั้งก่อนเดินทางและหลังจากที่เดินทางไปถึงอิสราเอลแล้ว ส่วนประเด็นสลิปเงินเดือนนั้น จะบังคับให้บริษัทจัดหางานจัดทำเป็นภาษาไทยให้คนงานได้รับทราบและเข้าใจ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิสราเอลรับที่จะพิจารณาในการเพิ่มโควตานำเข้าแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอลเพิ่มขึ้นอีกด้วย” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

Advertisement

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า การเดินทางเยือนอิสราเอลในครั้งนี้ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างไทยและอิสราเอล ติดตามสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบและภัยคุกคามของอิสราเอล รวมทั้งเยี่ยมเยียน สร้างขวัญและกำลังใจให้กับแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอล โดยเฉพาะแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ใกล้กับพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือและฉนวนกาซ่า

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ยังได้หารือร่วมกับ Mr.HAIM KATZ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สวัสดิการ และบริการสังคมของอิสราเอล เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา แรงงานไทยประสบปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอิสราเอล และพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างในเรื่องค่าจ้าง จึงขอให้กระทรวงแรงงาน สวัสดิการและบริการสังคมอิสราเอล เร่งหามาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานไทย และบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามสัญญาจ้างอย่างเคร่งครัด อีกทั้งเพิ่มช่องทางร้องทุกข์ของแรงงานไทย พิจารณาดำเนินการเพิ่มบทลงโทษและการสั่งปรับนายจ้างที่ฝ่าฝืน รวมทั้งการพิจารณายกเลิกโควตาจ้างแรงงานต่างชาติสำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และเพิ่มระดับความเข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด เพื่อให้แรงงานไทยได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิตามกฎหมายอิสราเอล โดยไม่ต้องเกิดปัญหาฟ้องร้องกับนายจ้าง

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลอิสราเอลมีนโยบายควบคุมและบริหารจัดการแรงงานต่างชาติอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ 1.พิจารณาจากความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งล่าสุดต้องการตำแหน่งผู้อนุบาล หรือผู้ดูแลคนชราหรือคนพิการมากที่สุด จำนวนกว่า 50,000 คน รองลงมา ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญที่ต้องใช้ความรู้และทักษะความชำนาญพิเศษ อาทิ พ่อครัว แม่ครัว ช่างฝีมือ จำนวน 5,400 คน และ 2.การใช้ความตกลงทวิภาคีในการนำเข้าแรงงานต่างชาติในสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งแรงงานไทยเป็นที่ต้องการของอิสราเอลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตร และอิสราเอลอนุญาตให้เฉพาะแรงงานจากประเทศไทยสามารถทำงานในภาคเกษตรได้เป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน โดยสัญญาจ้างงานอนุญาตวีซ่าครั้งแรก มีระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้น จะต่ออายุให้ปีต่อปี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน 5,300 เชลเกลต่อเดือน หรือประมาณ 46,900 บาท คิดเป็นรายได้ของแรงงานต่อคนต่อปีประมาณ 562,800 บาท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image