ปัญหาฝุ่นยังไม่จบ!! กระทรวงหมอเตือน 3 อาชีพ 4 กลุ่มเสี่ยง

ป้องกันฝุ่นละออง

สธ.เตือนคนทำงานกลางแจ้ง ‘ตร.-วินมอเตอร์ไซต์-คนงาน’ ระวังฝุ่นละออง ด้านกรมอนามัยแนะ 4 กลุ่มเสี่ยงปฏิบัติตัวป้องกัน

ป้องกันฝุ่นละออง-เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นว่า กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว และได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค เพื่อดำเนินการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้อย่างต่อเนื่อง และประชาสัมพันธ์ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน

“โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากค่า PM 2.5 ในแต่ละจุดในแต่ละเวลามีความแตกต่างกัน ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ ได้แก่ 1.ตำแหน่งที่อยู่หรือทำกิจกรรม 2.ช่วงเวลาและระยะเวลาที่สัมผัส 3.ชนิดของกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 สูง เช่น ออกกำลังกาย ทำงานหนัก จะมีความเสี่ยงมากกว่า และ 4.ปัจจัยจากลักษณะบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่ไวต่อผลกระทบ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเลือกสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้น ขอแนะนำประชาชนว่าขอให้ประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อน ซึ่งกลุ่มคนที่ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีค่า PM 2.5 สูง

ตลอดจนกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น คนที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้งเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง วินมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ขับขี่นานๆ คนงานที่ทำงานที่ก่อให้เกิดฝุ่น เป็นต้น ควรป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากที่มีความสามารถในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ ตั้งแต่มาตรฐาน N95 ขึ้นไป 

Advertisement

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปที่ประเมินตนเองแล้วมีความเสี่ยงต่ำ อาจยังไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากชนิด N95 เนื่องจากสวมใส่อาจเกิดอาการอึดอัด ร้อน และไม่สามารถใส่ได้นาน ส่วนในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวที่มีความไวต่อผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควรขอคำปรึกษากับแพทย์ประจำตัวหรือแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งจะให้คำแนะนำตามสภาพของโรค ระดับอาการที่เป็น และวิธีการรักษาที่ได้รับอยู่ นอกจากนี้ ในกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันตนเองคือ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐาน หรือเข้าไปมีกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมากเป็นระยะเวลานาน หรือทำกิจกรรมที่เอื้อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

สำหรับบุคคลที่ประเมินตนเองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงระดับต่ำ เช่น ผ่านเข้าในพื้นที่ระยะเวลาสั้นๆ อยู่ในช่วงเวลาที่ค่า PM 2.5 ไม่สูง มีกิจกรรมเบาๆ เท่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากาก หากมีความกังวลอาจสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดแทนได้ แต่ต้องเข้าใจว่าทั้งสองแบบนี้ไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบ PM 2.5 ได้ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แต่ให้ตื่นตัวและติดตามข่าวสารเรื่องดังกล่าวจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และสามารถประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองได้ทาง https://goo.gl/forms/dy9MiavLOqE1JkQD3  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคำแนะนำสำหรับ 4 กลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ประกอบด้วย 1.จำกัดการออกนอกบ้าน ควรอยู่ในอาคารโดยเฉพาะในห้องสะอาด 2.ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และไม่ควรอยู่นอกบ้านเป็นเวลานาน 3.เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน หรือโรงยิมแทน 4.หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ และ 5.ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม อย่างน้อย 5 วัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image