‘บิ๊กอู๋’ รับ 14 ข้อเรียกร้องกลุ่มประมง 22 จว. ตั้งทีมถก 1 เดือน ก่อนยื่น C188

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานประชุมร่วมกับผู้แทนสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาและทบทวนกฎหมายในกิจการประมง หลังจากที่กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงทะเล ยื่น 14 ข้อเรียกร้องให้เลื่อนการลงสัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยเรื่องการทำงานภาคประมง ออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติร่วมกัน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานชุดเล็กพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวเพื่อตอบกลุ่มเรือประมง โดยให้ได้ข้อสรุปเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน ก่อนจะไปรับรองอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 188 ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปลายเดือนมกราคมนี้

พล.ต.อ.อดุลย์เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องของชาวประมงทั้ง 14 ข้อ มีที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาฉบับที่ 188 เพียง 4 ข้อ ซึ่งเพิ่มเติมมาจากของเดิมเท่านั้น ได้แก่ 1.การตรวจสุขภาพประจำปีของลูกจ้าง 22.การส่งแรงงานประมงกลับจากท่าเรือต่างประเทศ 3.การประกันสังคม 4.การปฏิบัติและการใช้บังคับที่จะต้องมีใบรับรองการตรวจเรือ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพการทำงานบนเรือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ได้มอบหมายให้ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงานชุดเล็ก นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นเลขานุการ ประชุมพิจารณาตอบข้อเรียกร้องของสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเลทั้ง 14 ข้อ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

Advertisement

สำหรับข้อเรียกร้องของสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล 14 ข้อ ได้แก่ 1.การจ่ายเงินเดือนผ่านตู้เอทีเอ็มซึ่งเป็นปัญหาและสร้างภาระให้กับนายจ้าง/ลูกจ้าง และการแก้ไขกฎหมายให้สามารถจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าได้ 2.นิยามของเรือประมงเพื่อยังชีพยังไม่ชัดเจน เรือประมงพื้นบ้านจะต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมายด้วยหรือไม่ 3.การเปิดโอกาสให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควบคู่กับประกันของภาคเอกชน ทดแทนการเข้าอยู่ในระบบประกันสังคม 4.อัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และการเรียกเงินคืนจากกองทุน กรณีลูกจ้างอยู่ไม่ครบปี 5.การจัดที่พักอาศัยบนเรือประมง จะบังคับใช้กับเรือต่อใหม่ที่มีดาดฟ้าและมีขนาด 300 ตันกรอสขึ้นไปเท่านั้น 6.แนวทางและประเภทเรือที่ต้องขอใบรับรองการตรวจสภาพเรือ 7.ความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่ม

8.การเปิดโอกาสให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถฝึกงานในเรือประมงได้ 9.การกำหนดเงื่อนไขการส่งตัวแรงงานกลับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายผิด นายจ้างไม่ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 10.การนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยูใช้เวลานาน มีภาระค่าใช้จ่าย ขอให้ควบคุมปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีจากนายจ้าง 11.แรงงานตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว ไม่เห็นด้วยหาก สธ.จะมีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มในการตรวจสายตา และการได้ยิน และขอให้จัดทำคู่มือ/แนวปฏิบัติในการส่งต่อผู้ป่วย 12.การนับชั่วโมงพักและการกำหนดชั่วโมงพักให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานบนเรือประมงแต่ละประเภท 13.ขอให้แก้ไขความซ้ำซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อลูกเรือ และ 14.การกำหนดอัตรากำลังในเรือ ควรกำหนดเป็นอัตรากำลังขั้นสูงสุดที่สามารถออกไปทำการประมงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image