รวมข่าวเด่น ‘แวดวงสาธารณสุขไทย’ ปี 2561

ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมาเป็นอีกปีที่ข่าวในวงการสาธารณสุขถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ ดังนี้

1.โรคพิษสุนัขบ้าระบาด

ปัญหาเริ่มตั้งแต่ กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงประเด็นการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ว่าไม่ใช่ภารกิจของท้องถิ่น หากซื้อมาดำเนินการจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย จนทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนวัคซีน ขณะเดียวกันนักวิชาการจุฬาฯก็ออกมาเปิดเผยว่า พบการใช้วัคซีนด้อยคุณภาพ และมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้พบเชื้อในหัวสุนัขจำนวนมาก ลุกลามจนเกิดการระบาดในหลายพื้นที่ และพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าสูงถึง 17 ราย จากปัญหาดังกล่าวกลายเป็นข่าวครึกโครม จนนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งย้าย นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมอบให้ นายสรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ แม้จะมีการย้าย แต่ก็ยังมีข่าวไม่จบสิ้น เพราะวัคซีนป้องกันในสัตว์ก็ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับเกิดคำถามว่า การทำหมันสุนัขและแมวจรจัดครอบคลุมหรือไม่ ที่สำคัญนักวิชาการยังออกมาเปิดเผยพบสัตว์ป่วยตายปริศนา จนเกิดคำถามว่าเป็นโรคไข้หวัดนก กลายเป็นข่าวใหญ่ เป็นอีกปีที่กรมปศุสัตว์ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการควบคุมโรคในสัตว์ที่อาจลุกลามมาสู่คน

Advertisement

2.สารเคมีอันตราย ‘พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส’

ทันทีเมื่อคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มีมติไม่แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งที่หลายประเทศกว่า 50 ประเทศสั่งแบน จนมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตีแผ่ข้อมูลว่า มติดังกล่าวขัดกับมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ที่พิจารณาให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอต และสารเคมีคลอร์ไพริฟอสให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 ส่วนไกลโฟเซตให้มีมาตรการจำกัดการใช้ เป็นต้น แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการดำเนินการ ทำให้ทางเครือข่ายอยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ‘เมจิกสกิน-ลีน’

อีกข่าวครึกโครมกรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งเมจิกสกิน และลีน ที่มีการสวมทะเบียนการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือตรารับรอง อย. จนทำให้ดารา นักแสดงชื่อดังต่างๆ มารีวิวสินค้า ทั้งที่ผิดกฎหมาย แต่ที่ซ้ำร้ายคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลีน ที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก จนมีคนหลงเชื่อและรับประทานจนเสียชีวิต ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่อ้าง อย. มีการโฆษณาชวนเชื่อ จนเกิดการเรียกร้องให้ อย.ปฏิรูปการขึ้นทะเบียนครั้งใหญ่ เพราะมองว่าขึ้นทะเบียนง่าย และมีการปลอมกันมาก ที่สำคัญไม่มีการเฝ้าระวังอย่างมากพอ ซึ่งทาง อย.ออกมาประกาศปฏิรูป และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อทุกประเภท

4.ร้องเรียนบริการทางการแพทย์

เป็นข่าวใหญ่หนีไม่พ้น กรณีสาวถูกสามีสาดน้ำกรดใส่ ก่อนส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลพระราม 2 เสียชีวิต ซึ่งประเด็นเอาผิดสามีสาดน้ำกรดเป็นประเด็นที่ทางตำรวจดำเนินการอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่ถูกจับตามองไม่แพ้กัน โดยชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พาครอบครัวคนไข้ที่เสียชีวิตร้องเรียนต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้ดำเนินการเอาผิด รพ.พระราม 2 ตั้งคำถามว่ามีการปฏิเสธคนไข้ และให้ไปรักษา รพ.ตามสิทธิอีกแห่ง อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิต ล่าสุด สบส.ได้ตรวจสอบและได้ให้นิติกรแจ้งความดำเนินคดีแล้ว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหญิงสาวเข้าแจ้งความนายแพทย์ ซึ่งเป็นสูตินรีแพทย์ทำการลวนลามขณะตรวจภายใน ซึ่งมีหญิงสาวหลายรายออกมาร้องเรียน บางรายอ้างว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนมีการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง

5.แก้ไข พ.ร.บ.ยา หวั่นเอื้อร้านสะดวกซื้อ

ไม่ใช่ครั้งแรกกับการแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นปัญหามาตลอด เมื่อ อย.จะแก้ไขก็จะมีกลุ่มคัดค้าน อย่างในปี 2561 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม และเครือข่ายเภสัชกรรมต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวขอปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับที่ อย.เสนอผ่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนกรกฎาคม โดยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาแทน ซึ่งมองว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล รวมไปถึงข้อห่วงใยต่างๆ ที่อาจเอื้อให้การขออนุญาตเปิดร้านขายยาในร้านสะดวกซื้อง่ายขึ้น ในที่สุด นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ถอนร่าง พ.ร.บ.ยาดังกล่าว และนำปรับแก้ตามข้อเรียกร้อง โดยคงไว้วิชาชีพเดิมในการจ่ายยา คือ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ส่วนเภสัชกรเป็นไปตามข้อกำหนดร้านขายยา ส่วนพยาบาลนั้นมีกฎกระทรวงรองรับให้สามารถจ่ายยาได้ตามใบสั่งแพทย์

6.ปลัด สธ.โยกย้ายข้าราชการเจ้าปัญหา

หลังรับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ของ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) รวม 4 ฉบับ ปรากฏว่า

คำสั่งดังกล่าวเกิดปัญหาอย่างจัง มีบุคลากรใน รพ.ที่ ผอ.ถูกโยกย้ายหลายแห่งออกมาแต่งดำและคัดค้านคำสั่งดังกล่าว หนักสุดคือ นพ.บรรพจน์ สุวรรณชาติ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ ที่ถูกโยกไปเป็น ผอ.รพ.เลย ทำหนังสือลาออกไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากระบุว่าไม่มีการพูดคุยกันมาก่อน โดยไม่ทราบความผิดว่าถูกย้ายเพราะสาเหตุใด และยังมีชมรม รพศ.รพท.ออกมาคัดค้านอีก กระทั่ง นพ.สุขุมต้องออกคำสั่งใหม่ย้ายกลับคืน 4 ราย

7.บ้านพักบุคลากรทางการแพทย์ทรุดโทรม

มีการเปิดเผยข้อห่วงใยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับปัญหาบ้านพักบุคลากรสาธารณสุขขาดแคลน หลายแห่งทรุดโทรมอยู่ไม่ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยอมรับและอยู่ระหว่างช่วยเหลือ โดยให้ข้อมูลว่า ยังมีบุคลากรที่มีความจำเป็นต้องมีที่พักอาศัยในโรงพยาบาลจำนวน 170,292 คน จากจำนวนบุคลากรทั้งหมด 359,998 คน พบว่าบุคลากรที่ยังไม่มีไม่มีที่พัก 65,858 คน ล่าสุด นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. จัดสรรงบประมาณ 1,290.39 ล้านบาท เพื่อสร้างและซ่อมแซมบ้านพัก อาคารพัก แฟลตและที่พักจำนวน 10,863 หลัง แบ่งเป็น บ้านพัก 8,641 หลัง อาคารพักและแฟลต 2,222 แห่ง และวางแผนจัดสรรให้เพียงพอไปจนถึงปีงบประมาณปี 2565 คาดว่าจะใช้เงินทั้งหมด 6,623.42 ล้านบาท

8.ลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขร้องค่าแรง

ลูกจ้างในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) ร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ปรับแหล่งที่มาของค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ให้มาจากเงินงบประมาณโดยตรง และขอปรับสถานะลูกจ้างชั่วคราว เป็น พกส. ที่สำคัญขอให้ปรับเงินเดือนให้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ โดยให้การช่วยเหลือ แบ่งเป็น กลุ่มที่เป็น พกส.จำนวน 42,059 คน กลุ่มนี้เดิมเป็นลูกจ้างชั่วคราว และได้ปรับตำแหน่งแต่เงินเดือนไม่ขึ้น จึงจะมีการขึ้นเงินเดือนตามอายุการทำงานของแต่ละคน ส่วนอีกกลุ่มเป็นลูกจ้างชั่วคราว จะเร่งดำเนินงานปรับเป็น พกส.ให้หมดภายในปี 2562

9.คัดค้านซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ

นพ.ชูชัย ศรชำนิ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ คัดค้านกรณี ครม.มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ เนื่องจากมองว่าเป็นระบบที่ไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพราะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตลอดจนระบบประกันอื่นๆ หากเดินหน้าจะส่งผลกระทบ ในเชิงกฎหมายเกิดการก้าวก่ายหรือเข้าไปแทรกแซงกัน กระทั่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศไม่เดินหน้าในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน

ประเด็นส่งท้ายปี 2561 คือ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ให้สามารถนำกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ปรากฏว่ามูลนิธิชีววิถี กลับพบว่ามีบริษัทต่างชาติยื่นขอสิทธิบัตรกัญชา ทั้งที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญากลับผ่านการพิจารณาโดยไม่ยกเลิกตั้งแต่ต้น กระทั่งเป็นข่าวใหญ่โต สุดท้ายกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังไม่มีการดำเนินการ ล่าสุดมหาวิทยาลัยรังสิต เตรียมยื่นฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญา และศาลปกครองกลางหลังปีใหม่ พร้อมทั้งร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และขอประชาชนคว่ำบาตรไม่เลือกพรรคที่ไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image