หมออนามัย-บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ทวงถาม ‘สิทธิ-ความก้าวหน้า-ค่าตอบแทน’

เมื่อเร็วๆ นี้ นายอะหมัดลุตฟี กามา ประธานชมรม ว.16 ชายแดนใต้ตอบแทนคุณแผ่นดิน จังหวัดยะลา และนายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ และบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้จำนวน 20 คน ได้ยื่นหนังสือติดตามทวงถามความคืบหน้า ในประเด็นสิทธิ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และการบรรจุของบุคลากรสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศูนย์ดำรงธรรมยะลา ดังนี้

1.ติดตามความคืบหน้า การปรับสายงานทั่วไป (เจ้าพนักงาน) ระดับชำนาญงาน ที่มีวุฒิปริญญาตรี ตามหลักเกณฑ์ ว.16/2558 การบริหารบุคคลชายแดนใต้ของ ก.พ. จากกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 ให้ดำเนินการปรับตำแหน่ง ว.16 ชายแดนใต้ ที่มีคุณสมบัติครบตามสิทธิอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ต้องรอให้ชมรมหรือผู้มีคุณสมบัติครบทวงถาม และควรมีการคืนข้อมูลกลับ และแจ้งให้ชมรมรับทราบความคืบหน้าด้วย และขอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 และผู้เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการบริหารบุคคลชายแดนใต้ตามหลักเกณฑ์ ว.16 ให้ครอบคลุมหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงในจังหวัดชายแดนใต้ (ศูนย์อนามัยที่ 12 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ยะลา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.ยะลา ศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานชายแดนภาคใต้ สถาบันธัญรักษ์ปัตตานี รวมถึงบุคลากรสาธารณสุขในด่านศุลกากรชายแดนใต้ ฯลฯ ให้ได้รับสิทธิบริหารบุคคลชายแดนใต้ตามหลักเกณฑ์ ว.16 เช่นเดียวกับบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

2.ติดตามเรื่องการบรรจุของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ที่ไม่ได้รับการบรรจุมามากกว่า 10 ปี อีกทั้งยังมีการบรรจุแค่บางวิชาชีพอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดชนชั้นทางวิชาชีพทั้งๆ ที่ทำงานในกระทรวงเดียวกัน จึงขอให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และ ก.พ. พิจารณาการบรรจุบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ต่อไป

3.ติดตามความคืบหน้าการบรรจุของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80) ของสำนักปลัดกระทรวงและกรม กองต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 ที่มีรายชื่อตาม ว.80 ให้มีการบรรจุตำแหน่งดังกล่าว ก่อนที่บัญชีดังกล่าวจะหมดอายุ เพื่อไม่ให้บุคลากรเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ต่อไป

Advertisement

4.ขอให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ติดตามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขให้มีความเป็นธรรม กับทุกสายงาน ทุกวิชาชีพ และทุกหน่วยงาน โดยยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยการเบิกจ่ายจำกัดแค่ 4 วิชาชีพเท่านั้น และเบิกจ่ายสูงสุดถึง 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน ส่งผลต่อภาระงบประมาณของหน่วยงาน เพราะใช้เงินบำรุงในการเบิกจ่าย

และควรตั้งคณะทำงานทำการปรับปรุงค่าตอบแทนทุกฉบับในกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นค่าตอบแทนฉบับมหาชน โดยพิจารณาในอัตราที่ไม่เหลื่อมล้ำสูงมากอย่างปัจจุบัน เช่น บางวิชาชีพได้ค่าตอบแทนแค่ 1,000 บาท แต่บางวิชาชีพกลับได้สูงสุดถึง 60,000 บาท จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของค่าตอบแทนดังกล่าว

อีกทั้งค่าตอบแทนดังกล่าว ควรพิจารณาให้ครอบคลุมทุกสายงาน (เช่น สายงานสนับสนุน ฯลฯ) ไม่ครอบคลุมทุกวิชาชีพ (เช่น จพ.โสตทัศนศึกษา จพ.เวชสถิติ) และไม่ครอบคลุมทุกหน่วยงานในส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ เพราะจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการทำงาน เพราะค่าตอบแทนบางวิชาชีพ มีอัตราที่สูงกว่าเงินเดือนหลายเท่า ในขณะที่บางวิชาชีพ ได้ในอัตราน้อยมาก หรือไม่ได้เลย

Advertisement

5.ขอให้รัฐบาลประสานงานผู้เกี่ยวข้องระดับนโยบายอันได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่อไป พิจารณาแนวทางพิทักษ์ สิทธิ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และการบรรจุบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานข้าราชการ ในแผนยุทธศาสตร์กระทรวง และยุทธศาสตร์ชาติให้ชัดเจน เป็นธรรม ทัดเทียมกันทุกวิชาชีพ ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การบริหารบุคคลชายแดนใต้ ที่มีความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน อย่างเป็นธรรมและมีความต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image