‘ศาลปกครองภูเก็ต’ สั่งคุ้มครองห้ามคุมจำนวน นทท. ‘สิมิลัน’ อุทยานฯ จ่ออุทธรณ์

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ศาลปกครองภูเก็ต ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ในคดีที่นายนิพนธ์ สมเหมาะ แกนนำกลุ่มชมรมผู้ประกอบการทัวร์หมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ฟ้องร้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายธัญญา เฉพาะประกาศที่พิพาทฉบับแรกตามประกาศกรมอุทยานฯ  เรื่องการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ลงวันที่ 9 ต.ค.2561 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562- 31 มีนาคม 2562 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศที่พิพาทฉบับที่สองตามประกาศกรมอุทยานฯ เรื่องกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับยานพาหนะประเภทเรือที่เข้าไปในเขตอุทยานฯ สิมิลัน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2561

โดยศาลพิจารณามีใจความสำคัญว่า การให้ทุเลาการบังคับตามประกาศที่พิพาททั้งสองฉบับไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป จะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่สาธารณะหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการออกระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานฯ ปี 2552 รองรับอยู่แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งระงับการกระทำที่จะทำให้เกิดความเสียหายในอุทยานฯ ได้ ทั้งนี้ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนจากการให้ถ้อยคำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่า สำหรับช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้าไปมากที่สุดคือ ในระหว่างกลางเดือน ม.ค.-สิ้นเดือน ก.พ.ของทุกปี เฉลี่ยวันละประมาณ 5,000 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวตามประกาศที่พิพาทฉบับแรก ประเภทไปกลับไม่เกิน 3,325 คน และดำน้ำลึกไม่เกิน 525 คน รวมเป็นจำนวนไม่เกิน 3,850 คน จึงเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดกับจำนวนนักท่องเที่ยวตามที่กำหนดในประกาศที่พิพาท มีจำนวนไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป และไม่น่าจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารจัดการนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานฯ สิมิลันในช่วงเวลาดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องร้องคดีทั้งสอง

ทั้งนี้ หากมีนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนมากจนเกินขีดความสามารถที่อุทยานฯ สิมิลันจะรองรับได้แล้วจะทำให้นักท่องเที่ยวล้นเกาะและทรัพยากรเสื่อมโทรมลง และเกิดความไม่ประทับใจของนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถูกตำหนิจากสังคมได้นั้น  เห็นว่าโดยที่การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมค่อนข้างจำกัดในแต่ละปี และนักท่องเที่ยวรวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้เตรียมการและวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวเอาไว้ล่วงหน้า  ซึ่งผู้ถูกฟ้องร้องคดีทั้งสองย่อมทราบถึงสภาพดังกล่าวเป็นอย่างดี ผู้ถูกฟ้องร้องทั้งสองจึงชอบที่จะวางแผนเตรียมการเพื่อรองรับการสภาพการเช่นนี้ ทั้งยังเป็นการสอดคล้องกับพันธกิจของแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอุทยานฯ สิมิลันที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการจัดการอุทยานฯ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และนโยบายของรัฐที่สนับสนุนและสิ่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย และเมื่อพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯและอธิบดีกรมอุทยานฯ ที่ยังคงมีอยู่ และแนวทางบริหารจัดการการท่องเที่ยวอุทยานฯ สิมิลันโดยรวมแล้ว การให้ทุเลาบังคับตามประกาศที่พิพาททั้งสองฉบับไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ย่อมไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่สาธารณะแต่อย่างใด

Advertisement

ส่วนประกาศประกาศที่พิพาทฉบับที่สอง เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับยานพาหนะประเภทเรือที่เข้าไปในอุทยานฯ สิมิลัน ลงวันที่ 9 ต.ค. 2561 นั้น เห็นว่ามีเงื่อนไขที่เกิดขึ้นไม่ครบถ้วน เพราะประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งการบังคับใช้จะอยู่ในช่วงการปิดการท่องเที่ยวอุทยานฯ สิมิลัน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2562 ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่อาจประกอบกิจการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวได้ จึงถือว่าประกาศที่พิพาทฉบับที่สองไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด จึงให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับตามประกาศนี้

Advertisement

ด้าน พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทะเลและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอแนะนำให้กรมอุทยานฯอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองภูเก็ตไปยังศาลปกครองสูงสุด

ขณะที่รายงานข่าวจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ กำลังให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image