“ปิยะสกล” พบ ‘2 รพ.’ รับผลกระทบพิษ “ปาบึก” มีผู้ป่วยติดค้างกลับบ้านไม่ได้

สธ. ประชุมระบบวิดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ ติดตามพายุโซนร้อนปาบึก พบ 2 รพ.ได้รับผลกระทบหนัก  ด้านสบส.ส่งทีมวิศวกรช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 4 มกราคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร็นซ์ ติดตามสถานการณฺพายุโซนร้อน ปาบึกว่า  แม้ว่าทางกรมอุตุนิยมวิทยา จะรายงานสถานการณ์ พายุปาบึก ว่า จะค่อยๆ อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่น แต่ว่า ก็ได้ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ โดยจังหวัดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  พบว่า มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง  และเกิดผลกระทบใน 6 อำเภอ  โดยเฉพาะที่อำเภอปากพนัง ฝนตก ลมแรง เกิดต้นไม้หักโค่น  ไฟฟ้าดับ  มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย  และที่รพ.ปากพนัง เกิดน้ำท่วมขังสูง 100 เซนติเมตร ทำให้รถรับ-ส่งต่อผู้ป่วย จมน้ำ ซึ่งได้มีการขอกำลังทหารมาช่วยเหลือในการส่งต่อผู้ป่วยแทน และมีการลำเลียงผู้ป่วยหนัก 8 คน ไปรักษายังรพ. มหาราชนครศรีธรรมราช   และได้มีการนำทีมแพทย์ บางส่วนไปประจำยังจุดศูนย์ อพยพแล้ว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการสอบถาม รพ. มหาราชนครศรีธรรมราช ก็พบว่า ในพื้นที่ ยังคงมีฝนตก และลมพัดแรง  ส่งผลให้ต้นไม้ใหญ่หักโค่น  โดนเสาไฟฟ้าหัก รวม 3 ต้น เกิดไฟฟ้าดับ  ขณะนี้รพ.ได้ใช้การปั่นไฟฟ้าสำรอง ซึ่งมีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองไว้เพียง  และยังสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยได้ตามปกติ โดยมีผู้ป่วยใน 800 คน ผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินวิกฤต 70 คน   ขณะเดียวกันก็พบปัญหาว่า ผู้ป่วยนอกที่มารับบริการ ในรพ. เมื่อเผชิญกับปัญหา พายุฝน ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ทางรพ. ได้เปิดให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว ให้กับประชาชน รวมทั้ง 100 คน  ซึ่งขณะนี้อาหารน้ำดื่มยังมีเพียงพอ  ขณะเดียวกันได้มีการสั่งกำชับให้เฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้น ทั้งไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภาวะความเครียด ตามศูนย์อพยพ  เนื่องจากเป็นการรวมตัวของคนจำนวนมาก  ส่วนพื้นที่อื่นได้รับรายงานว่า มีกลุ่มฝน แต่ยังไม่รุนแรง

ด้านนพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สบส.ได้ตั้งทีมรองรับเหตุการณ์และพร้อมเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว โดยได้ส่งทีมวิศวกรฉุกเฉิน หรือเอ็มเสิร์ท (MSERT) จากกองวิศวกรรมการแพทย์, กองแบบแผน และสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 5 จ.ราชบุรี จะเดินทางไปสมทบกับทีมเอ็มเสิร์ทในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย และวาตภัยจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งได้กำชับให้ทีมวิศวกรฉุกเฉินฯ จากทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง สถานบริการสุขภาพ และอสม.ต้องพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินตลอดเวลา

Advertisement

 นพ.ประภาส กล่าวว่า สำหรับบทบาทของทีมเอ็มเสิร์ทนั้น จะมุ่งเน้นในการเตรียมความพร้อมและดูแลสถานบริการสุขภาพให้พร้อมทำการได้ตลอดระยะเวลาที่เกิดภัยพิบัติ ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านวิศวกรรมการแพทย์อาทิระบบไฟฟ้า, ระบบก๊าชทางการแพทย์, ระบบประปา, ระบบลิฟต์และขนส่ง, ระบบสื่อสารฯลฯจะต้องมีการป้องกันมิให้น้ำท่วม และมีระบบสำรองในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 2) ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม จะต้องมีการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของโครงสร้าง หลังคา เสาวิทยุสื่อสาร ป้ายต่างๆ ที่เป็นบริเวณรับลมหรือรองรับน้ำฝนในปริมาณมาก มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันระบบระบายน้ำฝน ระบบบำบัดน้ำเสีย เคลื่อนย้ายเครื่องจักร  พัสดุ อุปกรณ์ ให้อยู่ในพื้นที่สูง รวมทั้ง เตรียมสถานที่ปลอดภัยสำหรับเป็นศูนย์อพยพ หรือรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานบริการสุขภาพแห่งอื่นๆ

นอกจากนี้หน่วยงานส่วนกลาง ทั้งกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน, กองสุขศึกษา และกลุ่มแผนงานจะร่วมจัดทำข้อมูลคำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเองในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ ให้กับสำนักสนับสนุนบริการสุขภาพเขต และศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานในพื้นที่ประสบภัยเพื่อส่งต่อให้กับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลความปลอดภัยของประชาชน และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ หรือหญิงตั้งครรภ์  และถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้แต่ละครัวเรือนในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าหากเกิดน้ำท่วมระยะยาว

อ่านเพิ่มเติม

Advertisement

พิษ ‘ปาบึก’ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช อ่วม!! ต้นไม้ล้มทับรถยนต์ อาคารสถานที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image