‘แพขยะพลาสติก’ ลดปริมาณได้ด้วย rPET

ข้อมูลจาก www.theoceancleanup.com ระบุว่า แพขยะพลาสติกŽ (Worldžs Ocean Garbage Patches) มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยถึงกว่า 2 เท่า ลอยล่องอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย เป็นขยะพลาสติกจำนวนมหึมาที่เล็ดลอดจากการจัดเก็บขยะไม่ถูกวิธี รวมทั้งการจงใจทิ้ง
และขยะที่ว่านี้ยังไม่มีทางกำจัดไปได้ แต่ทุกคนร่วมมือกันได้ที่จะไม่เพิ่มจำนวนแพขยะพลาสติกเหล่านี้อีก นั่นคือ การ รีไซเคิลŽ ขยะพลาสติกเพื่อทำเป็นวัตถุดิบใช้ผลิตสินค้าต่างๆ เช่น พรมเช็ดเท้า เสื้อกันหนาว รองเท้ากีฬา ฯลฯ และที่สำคัญนำกลับมาผลิตขวดบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มได้อีกด้วย รวมทั้งสินค้าพลาสติกอีกมากมายที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล

ถือเป็นการหมุนเวียนการใช้พลาสติกวนไป

การรีไซเคิลขยะพลาสติกเพื่อการดังกล่าว อาจช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้บ้าง ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งไทยก็ใช้แนวทางนี้มานานแล้ว แต่ปัญหาปริมาณขยะพลาสติกดูเหมือนจะยังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ผลกระทบจากขยะพลาสติกที่มีต่อสัตว์ทะเลมากมาย

Advertisement

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีความพยายามรณรงค์ให้คนไทยงดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นหลอดดูด ช้อนส้อมพลาสติก หรือถุงใส่ของจากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งสร้างกระแสตื่นตัวจากคนไทยได้มากทีเดียว แต่จริงๆ แล้ว ยังมีวิธีการรีไซเคิลขยะพลาสติกอีกแนวทางหนึ่ง ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน เพราะมีกฎหมายห้ามไว้

ข้อกฎหมายนั้นคือ กฎกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือกŽ

กฎหมายนี้บัญญัติไว้เมื่อ 13 ปีก่อน ขณะนั้นยังไม่มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถรับประกันว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (recycled PET หรือ rPET) จะมีคุณภาพความบริสุทธิ์ สะอาดพอที่จะนำกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่มได้อีก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิต rPET มีความก้าวหน้ามากขึ้น และประเทศไทยมีผู้ประกอบการผลิต rPET ที่ผ่านมาตรฐานสหรัฐอเมริกา และมาตรฐานสหภาพยุโรป (อียู) แต่สินค้าที่ผลิตได้ไม่สามารถจำหน่ายในประเทศได้ มีแต่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังออสเตรเลียและอังกฤษ โดยทั้ง 2 ประเทศนี้ส่งเสริมการใช้ rPET ผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่ม

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า กรณีนี้มีความย้อนแย้งกันในข้อเท็จจริง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้ rPET แต่ประเทศไทยมีนวัตกรรมผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานโลก และคนไทยใช้ rPET ไม่ได้

“กลายเป็นว่าเราผลิตพลาสติกใหม่เพื่อเป็นขยะทุกวัน ในขณะที่เราผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลส่งไปให้ประเทศอื่นใช้ ทำไมเราไม่ใช้พลาสติก rPET ที่ผลิตได้อยู่แล้วหมุนเวียนไป ผมยืนยันว่าทุกบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยพร้อมที่จะใช้ rPET ขอเพียงให้กระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกกฎหมายเก่าข้อนี้เท่านั้น”Ž นายวีระ กล่าวและว่า หากการแก้ไขกฎกระทรวงยุ่งยาก ซับซ้อน ขอให้ สธ.พิจารณาเรื่องนี้โดยเริ่มจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มก่อน เป็นการนำร่องการใช้ rPET สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

นายวีระ กล่าวว่า ปัจจุบันการคัดแยกขยะขวดพลาสติกที่เป็นขวด PET มีความเป็นระบบระเบียบดีพอ เพราะคนรู้ว่าขวดน้ำเครื่องดื่มเป็นขยะมีราคา

 

“ดังนั้น การผลิต rPET ก็สามารถใช้ขยะขวดพลาสติก PET มารีไซเคิล เรียกว่าการรีไซเคิลแบบ bottle to bottle ทำให้เราใช้พลาสติกเหล่านี้วนไปได้ การควบคุมเรื่องความสะอาดของขยะขวดพลาสติกในเบื้องต้น ทำได้โดยบริษัทผู้รับซื้อขยะ เป็นการกำหนดเกณฑ์การแยกขยะจากครัวเรือนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าขยะขวดพลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้แล้วทิ้ง เชื่อว่าไม่ยากเกินไปที่ สธ.จะสามารถกำหนดแนวทางและวางเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคได้Ž” นายวีระกล่าว และว่า การใช้ rPET ไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง เพราะการรีไซเคิลพลาสติกที่ได้มาตรฐานโลกมีต้นทุนสูง แต่การดูแลสิ่งแวดล้อมก็ไม่สามารถตีมูลค่าราคาเป็นตัวเลขได้ว่าต้องใช้เงินเท่าไรจึงทำให้สิ่งแวดล้อมดี มีคุณภาพ

นายวีระ กล่าวอีกว่า ขณะนี้สมาคมพยายามประสานงานกับสมาชิกทุกบริษัทให้พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ (แพคเกจจิ้ง) รีไซเคิล หาก สธ.แก้กฎหมายแล้วเสร็จ ก็พร้อมดำเนินการได้ทันที และพร้อมสนับสนุนข้อมูลทุกด้านเพื่อให้ภาครัฐนำไปใช้พิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการใช้ rPET มาผลิตขวดน้ำและขวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ล่าสุด ดร.วาณี โกมลประเสริฐ Consumer Safety Officer นักวิชาการที่ทำงานวิจัยเรื่อง rPET ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) มานานกว่า 30 ปี และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ประกาศข้อกำหนดการตรวจสอบมาตรฐานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่จะนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มในสหรัฐ และตัวแทนจาก บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เจ้าของนวัตกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ผู้ผลิตและส่งออก rPET ไปยังออสเตรเลียและอังกฤษ เสนอแนะว่า หาก สธ.ยังกังวลเรื่องความสะอาดปลอดภัย ก็ควรจะมีหน่วยงานกลาง หรือสถาบันวิชาการ มารับรองการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยวัสดุ rPET ที่ผลิตได้ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ หรือหากกังวลเรื่องการจัดเก็บและแยกขยะขวดพลาสติก PET กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ควรเร่งให้ความรู้และรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนแยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ในบ้าน และหากต้องการข้อมูลวิจัยของประเทศชั้นนำทั่วโลกที่มีเกณฑ์มาตรฐานการใช้ rPET สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่

เหลือเพียงแต่ สธ.และรัฐบาลว่าจะคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image