‘อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ’ ในบท ‘เลขาธิการ สปส.’ 4เรื่องต้องทำก่อนเกษียณ

หมายเหตุ – นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สัมภาษณ์ มติชนŽ ถึงทิศทางการบริหารกองทุนประกันสังคม ในปี 2562

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ กล่าวว่า เมื่อเข้ามารับตำแหน่งนี้ ได้รับมอบนโยบายจาก พล.ต.อ.
อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ใน 4 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก เรื่องทำอย่างไรที่เราจะเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้แก่ผู้ประกันตนได้เกิดความสะดวกสบายในการรับบริการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรวดเร็วในการใช้บริการ เรื่องของการลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความสะดวก เรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย ที่เราถูกกล่าวหาว่าประกันสังคมใช้เงินฟุ่มเฟือย อันนี้เป็นเรื่องคุณภาพของการให้บริการ

ประเด็นที่ 2 เรื่องของการตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน โดยเฉพาะในเรื่องของการให้บริการ ว่าเราจะให้บริการอย่างไรที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกันตน เขาได้รับการปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอน และระยะเวลาที่กำหนดไว้ รวมไปถึงสามารถที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ประกันตนหรือไม่

Advertisement

ประเด็นที่ 3 เรื่องของการขยายความคุ้มครอง ซึ่งกรณีนี้มี 1.การเพิ่มผู้ประกันตนในมาตรา 40 คำว่าการเพิ่มผู้ประกันตนในมาตรา 40 หมายถึงว่า โดยปกติคนที่ถูกจ้างงานในระบบ จะเรียกว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ไม่ได้บังคับให้เข้าประกันสังคม ก็คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง เช่น คนขับแท็กซี่ คนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ช่างตัดผม ผู้สื่อข่าวอิสระ เกษตรกร เป็นต้น

“คนกลุ่มนี้ประกอบอาชีพอิสระ จริงอยู่ที่เขามีสิทธิได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่สิทธิอื่นๆ ที่จะเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้มีหรือไม่ เช่น เวลาที่เจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล ไม่สามารถทำงานได้ ใครจะให้เงินเขาเป็นค่ายังชีพในระหว่างที่เขาเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจนถึงขั้นทุพพลภาพ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เขาจะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูตัวเอง เพราะเขาไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือกรณีเขาเสียชีวิต แล้วใครที่จะออกค่าใช้จ่ายในเรื่องของการจัดการงานศพให้เขา ดังนั้น มาตรา 40 จะเข้ามาสวมในส่วนนี้”Ž นายอนันต์ ชัยกล่าว

นอกจากนี้ นายอนันต์ชัย กล่าวอีกว่า มาตรา 40 เป็นเรื่องของความสมัครใจของแรงงานอิสระ ซึ่งมีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่ามีแรงงานอิสระอยู่ประมาณ 22 ล้านคน ในประเทศไทย แต่ปัจจุบันเรามีคนในแรงงานอิสระที่อยู่ในระบบประกันสังคมเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น


Advertisement

“ถ้าเอาตัวเลข ณ วันนี้ เรามีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านคน จากแรงงานนอกระบบทั้งหมดที่มีประมาณ 22 ล้านคน ดังนั้น นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้ครอบคลุมคนจำนวนมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงสิทธิประกันสังคม แต่ปัญหาคือ กรณีนี้ต่างกับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่บังคับให้พนักงาน ลูกจ้างต้องเข้าระบบ แต่สำหรับมาตรา 40 เป็นเรื่องของความสมัครใจ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เกิดการรับรู้ว่าประกันสังคมมีระบบนี้เข้ามารองรับแล้ว และพวกเขาเองสามารถที่จะเข้าถึงสิทธิตัวนี้”Ž นายอนันต์ชัย กล่าว

สำหรับมาตรา 40 นั้น นายอนันต์ชัย บอกว่า จะมีทั้งหมด 3 ทางเลือก ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ทุกทางเลือกในแต่ละเดือนเมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้าประกันสังคม รัฐบาลจะสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง ได้สิทธิดังนี้ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาทต่อเดือน รัฐบาลสมทบให้ 30 บาท จะได้สิทธิกรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน ได้เงินทดแทนการขาดรายได้ หากทุพพลภาพ จะได้เงินทดแทนทุพพลภาพ และหากเสียชีวิตจะได้ค่าจัดการงานศพ ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาทต่อเดือน รัฐบาลสมทบให้ 50 บาท จะได้สิทธิ 3 อย่างแรก แต่สิทธิที่ 4 ที่จะเพิ่มมาคือ เงิน
50 บาท ที่รัฐสมทบให้เป็นเงินออมของเขา เหมือนกับรัฐฝากให้ทุกเดือน เดือนละ 50 บาท แล้วก็ไม่ใช่แค่ 50 บาท ยังเอาส่วนนี้ไปสร้างดอกผลนั่นก็คือ เงินดอกผลที่เขาจะได้รับจากเงิน 50 บาท ก็สะสมไปเรื่อยๆ แต่หากเป็นทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาทต่อเดือน รัฐบาลสมทบให้ 150 บาท เงินที่รัฐให้มาไม่ใช่เงินประกันสังคม นี่คือเงินสะสมหรือเงินออมของเขาเดือนละ 150 บาท เข้าบัญชีทุกเดือน รวมทั้งดอกผล แต่เขาจะได้สิทธิที่ 5 เพิ่มขึ้นมา คือ ค่าสงเคราะห์บุตร นั่นหมายถึงว่า ถ้าผู้ประกันตนมาตรา 40 มีบุตร หรือคลอดบุตร เขาจะได้เงินสงเคราะห์บุตรเป็นรายเดือน สำหรับบุตร 2 คน ที่อายุยังไม่เกิน 6 ขวบ ก็คือ ตั้งแต่คลอดบุตรออกมา สปส.จะจ่ายให้ทุกเดือนจนเด็กอายุถึง 6 ขวบ

นายอนันต์ชัย กล่าวว่า 2.การคืนสิทธิให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 คำว่ามาตรา 39 หมายถึง เดิมเขาเคยอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เป็นลูกจ้าง แต่ต่อมาออกจากงาน แต่เคยสะสมเงินไว้ในระบบ ถ้าเขาไม่ออกจากระบบ และอยู่ต่อ เขาจะต้องจ่ายเงินในส่วนของตัวเอง และส่วนรัฐบาลสมทบให้ ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์เช่นเดิม แต่ปัญหาคือ คนกลุ่มนี้ มีส่วนหนึ่งที่หลุดออกจากระบบ แล้วอยากกลับเข้ามาใหม่ รัฐบาลชุดนี้จึงคืนสิทธิให้มาอยู่ในมาตรา 39 ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 7.7 แสนคน

“ขณะนี้ สปส.ติดตามไปแล้วประมาณ 5 แสนคน และกลับเข้าสู่ระบบในมาตรา 39 แล้ว ประมาณ 1 แสนกว่าคน แต่ก็พบว่าอีกประมาณ 2 แสนคน ได้งานทำ และกลับเข้าไปเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จึงคาดว่าในจำนวน 7 แสนคน กลับเข้าไปอยู่ในประกันสังคม 4 แสนคน ส่วนอีกประมาณ 2 แสนคน ไม่กลับเข้ามาในระบบประกันสังคม ซึ่งเชื่อว่าส่วนนี้อาจเป็นเพราะอายุ 60 ปี เกษียณแล้ว จึงไปอยู่ในกองทุนออมแห่งชาติ (กอช.) และใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาลแทน แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเร่งรัดติดตามให้กลับเข้ามาให้ได้มากที่สุดภายในเดือนเมษายนนี้”Ž นายอนันต์ชัย กล่าว

เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า 3.การขยายความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างในองค์กร อย่างที่ทราบกัน สปส.มีกองทุนอยู่ 2 ส่วน คือ 1.กองทุนประกันสังคม ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 เป็นกองทุนที่จ่ายเฉพาะกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายนอกเหนือจากการทำงาน และ 2.กองทุนเงินทดแทน ที่ดูแลพนักงาน ลูกจ้าง กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายในระหว่างทำงาน ที่ล่าสุด พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 จะขยายการคุ้มครองลูกจ้างอีก 1 ล้านคน รวมกลุ่มเดิม 10.5 ล้านคน เป็น 11.5 ล้านคน ที่จะอยู่ในระบบการดูแลด้านการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งกลุ่มที่เข้าใหม่ 1 ล้านคน คือ ลูกจ้างของส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกจ้างของสถานประกอบกิจการหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไรในเชิงเศรษฐกิจ เช่น มูลนิธิ สมาคม องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เช่น สถานทูตจ้างโลคัลสต๊าฟ เป็นต้น

นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ประเด็นที่ 4 คือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ คือโจทย์ที่จะต้องทำต่อ ปัจจุบัน สปส.มีการคุ้มครองดูแลอยู่ 7 กรณี ในอนาคตจะต้องทบทวนว่า ใน 7 กรณีนี้ จะเพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรให้กับผู้ประกันตนบ้าง หรือในส่วนของกองทุนเงินทดแทน จะเพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรให้ได้อีก ซึ่งขณะนี้ที่เริ่มทำไปแล้ว คือ การเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จาก 2 ล้านบาท เป็นจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา หรือแม้แต่การเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 กรณีเสียชีวิตและต้องจ่ายเงินให้ทายาทจาก 8 ปี เป็น 10 ปี กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่าย 15 ปี เป็นจ่ายให้ตลอดชีพ

“แต่การเพิ่มสิทธิประโยชน์นั้น ไม่ใช่เพิ่มจนไม่ดูว่ากองทุนจะอยู่ได้หรือไม่ได้อย่างไร คือ ต้องอยู่บนความมั่นคงของกองทุนด้วย นี่คือโจทย์ 4 ข้อ ที่ผมรับมาทำ ให้ความสำคัญที่สุด และที่ผมยึดเป็นหลักเลยก็คือ เรื่องของความโปร่งใส เพราะกองทุนเป็นเงินที่มาจากการเก็บเงินของผู้ใช้แรงงาน เก็บจากนายจ้าง รัฐบาลสมทบส่วนหนึ่ง ในการทำงานเมื่อเราอยู่กับเงินก้อนใหญ่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรที่จะให้คนที่รับผิดชอบในงานประกันสังคมนั้น เข้าใจว่าเรากินเงินเดือนราชการ ต้องทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต
มีจิตให้บริการประชาชน และเราพร้อมที่จะให้ทุกหน่วยเข้ามาตรวจสอบการทำงาน นี่คือการทำงานของผม”Ž นายอนันต์ชัย กล่าว

ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมี 6.7 พันล้านบาท กองทุนประกันสังคม 1.9 ล้านล้านบาท เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นายอนันต์ชัย บอกว่า เมื่อเข้ามาบริหารกองทุนที่ใหญ่ที่สุด ก็ยิ่งต้องระมัดระวังที่สุด 

“เพราะเงินจำนวนมากมันอาจจะทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดเงินทองเพลิดเพลินได้ ผมมีเวลาแค่ 1 ปี
จะเกษียณอายุแล้ว อะไรที่ถูก ก็จะเดินหน้าต่อ อะไรที่ผิดและไม่ถูกต้อง พร้อมทบทวนและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง แต่บางเรื่องเป็นการแก้ไขกฎหมาย ก็ต้องใช้เวลาŽ” นายอนันต์ชัย กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image