รายงานพิเศษ : อนาคต’บัตรทอง’ควรเดินไปทิศทางใด?

นับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทำให้ประชาชนไทยกว่า 48 ล้านคน ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น ภายใต้สิทธิ “30 บาท รักษาทุกโรค” หรือที่เรียกกันในชื่อว่า “บัตรทอง”

กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ นั้น เกิดขึ้นในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี (ทักษิณ ชินวัตร) และเป็น 1 ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ประชาชนชื่นชอบอย่างมาก จึงไม่แปลกที่เมื่อถึงฤดูกาลการเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองใดให้ความสำคัญกับกองทุนนี้ ประชาชนจะเทคะแนนเสียงให้อย่างถล่มทลาย

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 13 ปี ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage : UC) หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “บัตรทอง” จนเกิดผลงานด้านสุขภาพที่โดดเด่น โดยเฉพาะกับคนที่มีฐานะยากจน เมื่อเจ็บป่วยไม่ต้องลำบากในการหาเงินหาทองมาจ่ายค่ารักษาอีกต่อไป โดยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ฟรี อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 การพัฒนาของบัตรทองย่อมต้องเดินหน้าต่อ แต่จะเดินต่อไปในทิศทางใด และจะเป็นอย่างไร ยังต้องหาคำตอบ

“นายจอน อึ๊งภากรณ์” ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ บอกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเดินมาถูกทางตลอด และมีทิศทางที่ดีในการคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ แต่ทิศทางต่อจากนี้ น่าเสียดายหากรัฐบาลมีแผนการจะบริหารจัดการใหม่โดยไม่ศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน

Advertisement

“มองว่า หากจะมีการปรับปรุงแก้ไข ควรเน้นเรื่องคุณภาพการบริการให้มากขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะมีปัญหาโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งไม่ได้ให้ความร่วมมือในการดูแลคนฐานะทางการเงินน้อย หากจะปฏิรูปต้องปรับตรงนี้ แต่ปัญหาคือ ขณะนี้กลับมีความพยายามในการปรับแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับแก้อย่างไรบ้าง ที่น่ากลัวคือ รัฐบาลมักพูดว่าระบบหลักประกันสุขภาพฯ จะต้องมี โดยเฉพาะคนยากไร้ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญก็เขียนชัดเจน การระบุเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ประกอบกับที่ผ่านมา มักพูดเรื่องสิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องหางบจากแหล่งต่างๆ ผมกังวลว่าความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้เสียหลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่ต้องการสร้างความเสมอภาคกับคนทุกกลุ่ม ส่วนงบประมาณสำหรับเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่รัฐควรจัดสรร โดยแหล่งเงินอาจมาจากภาษี สิ่งสำคัญผมว่าการจะแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ควรทำในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และการตัดสินใจทำอะไรก็จะมีการประชาพิจารณ์ เพราะเรื่องสุขภาพต้องฟังเสียงประชาชนเป็นหลักด้วย” นายจอนกล่าว

ดังนั้น หากพูดถึงทิศทางของระบบบัตรทองในอนาคตนับจากนี้ นายจอนย้ำว่า น่ากังวล “เหมือนอย่างที่บอกไปแล้วว่า เมื่อทิศทางดูไม่ชัดเจน ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ก็ไม่ได้เขียนให้ความสำคัญชัดเจนมากนัก ระบุเพียงคนยากไร้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาพยาบาล จริงๆ ควรเขียนให้ชัดว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของประชาชนทุกคน” นายจอนกล่าว

ด้าน “นพ.ชัยวัฒน์ จัตตุพร” ประธานประชาคมสาธารณสุข มีความเห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพฯ ดำเนินมากว่า 13 ปี ทิศทางต่อจากนี้ ควรปรับปรุงระบบให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และสถานการณ์ที่หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลต่างๆ ประสบปัญหา เพื่อให้ทั้งฝ่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และในฐานะผู้ซื้อบริการกับโรงพยาบาล ในฐานะผู้ขาย และให้บริการแก่ประชาชน มีความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องความอยู่รอดของโรงพยาบาล ในเรื่องเม็ดเงินในระบบบัตรทอง ซึ่งงบเหมาจ่ายรายหัว และการจัดสรรงบต่างๆ ค่อนข้างน้อย และไม่ได้ลงไปที่หน่วยบริการเต็มๆ แต่ไปลงให้กับหน่วยอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาล จนกลายเป็นปัญหาตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อทุกแขนง

Advertisement

“จากนี้ไป หากมีการคำนึงถึงระบบมากขึ้น คิดถึงหน่วยบริการ มีการจัดสรรงบอย่างเหมาะสม ไม่ให้โรงพยาบาลประสบปัญหา นอกจากจะสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ปัญหาในเรื่องการพัฒนาการบริการแก่ประชาชนก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจะประสบปัญหามากน้อยแค่ไหน แต่โรงพยาบาลก็ยังให้การดูแลประชาชนตลอด ไม่ได้มีการแบ่งแยก แต่หากมีการปรับปรุงแก้ไขตรงนี้ก็จะสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งจะดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับประชาชน” นพ.ชัยวัฒน์กล่าว และว่า การที่รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น ให้โรงพยาบาลอยู่ได้ ประชาชนได้รับการบริการที่ดียิ่งขึ้น

“นายนิมิตร์ เทียนอุดม” อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มองถึงทิศทางของบัตรทอง ว่าน่าเป็นห่วง เพราะผู้คุมนโยบายสุขภาพ ไม่เข้าใจในตัวระบบมากนัก เช่น เรื่องความยั่งยืนทางการเงินการคลังนั้น ข้อเท็จจริง นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการศึกษาเรื่องนี้ และเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไว้แล้ว โดยทางเลือกคือ ให้อยู่บนหลักการของ SAFE ประกอบด้วย Sustainability, Adequacy, Fairness และ Efficiency ซึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลรับลูกเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะตามที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ นั้น ก็ยังไม่มีการระบุว่าจะแก้ตรงจุดไหนบ้าง กังวลว่าจะไปแก้ไขเพียงเรื่องการบริหารจัดการ

นายนิมิตร์ยังกล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วระบบบัตรทองมีสิทธิประโยชน์ดีกว่าสิทธิอื่น ปัญหาอยู่ที่งบประมาณ เพราะที่ผ่านมา โรงพยาบาลจะรู้สึกว่าได้งบน้อย ถูกจำกัดด้วยค่าเหมาจ่ายรายหัว หากจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ระบบดีขึ้น ก็ควรปรับปรุงจุดนี้ โดยรัฐต้องอุดหนุนงบแต่ละกองทุนเท่ากัน ไม่ใช่ไปอุดหนุนงบกองทุนอื่นมากกว่าบัตรทอง เพราะแบบนี้ไม่เท่าเทียม

“ทิศทางของระบบสุขภาพในมุมมองผม เห็นว่าไม่ควรเน้นแค่บัตรทอง เพราะประเทศไทยควรมีระบบสุขภาพระบบเดียว แต่ไม่ใช่ยุบสามกองทุน แต่ควรตั้งระบบใหม่ขึ้นมา ที่สำคัญพื้นฐานการรักษาต้องเท่ากันหมด ไม่ใช่แบ่งแยกแบบนี้ ไม่ควรมีระบบไหนได้สิทธิมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่เข้าใจว่าทำได้ยาก ดังนั้น ก็ควรให้สิทธิสุขภาพภาครัฐทั้งสามกองทุนมีสิทธิที่เท่ากัน ไม่ใช่แตกต่างกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 กลับไม่ได้ระบุเรื่องสำคัญเช่นนี้ กลับไประบุว่าคนยากไร้ต้องได้รับการรักษา ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมองว่าต่อไปจะกลายเป็นระบบอนาถา หากเป็นแบบนี้จะยิ่งทำให้ระบบถอยหลังไปถึงจุดก่อนที่จะมีบัตรทองเสียอีก” นายนิมิตร์กล่าว

อีกความเห็นของทิศทาง “สิทธิบัตรทอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image