ปชช.ตั้งคำถามคุมค่ารักษารพ.เอกชน ประกาศก่อนเพราะใกล้เลือกตั้ง แต่อาจทำไม่ได้จริง

อดีตนายกสมาคมรพ.เอกชน ลั่นคุมราคมรพ.เอกชนปิดกั้นสิทธิปชช. เพราะเป็นทางเลือก เหตุปชช.มีสิทธิรักษาพื้นฐานอยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 10 มกราคม นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีการพิจารณาทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562  มีมติเบื้องต้นให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม เบื้องต้นเตรียมตั้งอนุกรรมการเพื่อดำเนินการศึกษาฯ ว่า  ถ้าทำสำเร็จจริง ถือว่าเป็นประโยชน์มาก อยากให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ประเด็นคือ จะเป็นการผ่านในหลักการหรือไม่ เพราะในรายละเอียดมีปลีกย่อยอีกเยอะ เนื่องจากไม่ใช่ว่าจะควบคุมกันได้ง่ายๆ  เนื่องจากการดำเนินการค่อนข้างยุ่งยาก อย่างใบเสร็จหนึ่งออกมา หากแพงจนเกินไปจะมีการดำเนินการอย่างไร ผู้บริโภค ผู้ป่วยจะไปร้องที่ไหน จะเป็นที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้จัดการเบ็ดเสร็จ เรียกว่า เป็นวันสต๊อป เซอร์วิส หรือไม่ ซึ่งตนมองว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทำเป็นคณะกรรมการกลางขึ้นมาเลย ว่า หากโรงพยาบาลไหนคิดราคาเกิน ค่ารักษาแพงมาก ก็ต้องมีหน่วยงานรับเรื่องนี้เฉพาะ

“กังวลเพียงว่าจะทำไม่ได้จริงมากกว่า เพราะเรื่องนี้คนต้านเยอะ โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ยอมง่ายๆอย่างแน่นอน ประเด็นคือ ทางเครือข่ายฯติดตามเรื่องนี้มาตลอด แต่กลับถูกให้อยู่นอกวง ไม่ได้ถูกเข้าไปอยู่ในวงด้วย การดำเนินการใดๆ ก็ไม่ทราบเรื่อง จึงไม่รู้ว่า การที่ออกมาลักษณะว่าจะควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ จะได้จริงมากน้อยแค่ไหน หรือเพราะใกล้เลือกตั้ง ตนก็ไม่ทราบ” นางปรียนันท์ กล่าว

นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  กล่าวว่า  ประชาชนมีโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาอยู่แล้ว ซึ่งการที่เราต้องการไปรักษาพยาบาลใน รพ.ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิของเรา ก่อนที่จะเข้ารักษาเราสามารถสอบถามราคาก่อนได้ หากพอใจก็รักษาไม่พอใจก็ไม่รักษาเป็นสิทธิที่ประชาชนคนไทยมี อีกประเด็นคือ หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน หากมีการประเมินว่าเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินก็สามารถเข้ารักษาได้ฟรี หากไม่เข้าเกณฑ์และไม่ต้องการรักษาก็สามารถส่งต่อไปรักษาใน รพ.ตามสิทธิได้ เมื่อเบื้องต้นเป็นเช่นนี้จึงสรุปว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องไปเดือดร้อนกับราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล เพราะไม่ได้เป็นการรักษาแบบบังคับแต่เป็นทางเลือกของประชาชนการที่รัฐ จะเข้ามาควบคุมราคายา และค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน เท่ากับเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการเลือกรับบริการ ถามว่าประชาชนอยากมีทางเลือกมากหรือไม่หรืออยากมีทางเลือกน้อยๆ การที่จะเดินเข้าในโรงพยาบาลเรารู้เกือบทันทีจากลักษณะการดูแลของ รพ. ว่าราคาจะสูงหรือไม่สูง

Advertisement

“อีกคำถามคือโรงพยาบาลเหลือเงินมากหรือไม่หลังจากเก็บค่ารักษา 18 โรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ มีกำไรจากยอดขาย 100 บาท สูงสูด 14 บาท ต่ำสุด 8-9 บาท ไม่ได้มากมายมีการปันผลเพียง 2 % ที่เหลือนำไปพัฒนาโรงพยาบาลให้ดีขึ้น เพื่อให้ดูแลประชาชนที่มีประสิทธิภาพเรื่อยๆ ประเทศไทยจึงมีชื่อเสียงเพราะ รพ.เหล่านี้มีรายได้ในการพัฒนา” นพ.เอื้อชาติ กล่าว

นพ.เอื้อชาติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคนไทยรักษาภายในประเทศ ไม่ได้ไปรักษาในต่างประเทศเหมือนในอดีต เพราะเรามีการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาได้ก็ต้องมีเงิน ไม่มีคุณภาพใดๆที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช้เงิน ดังนั้นการไปจำกัดราคาเป็นอุปสรรคในการพัฒนา และผลสุดท้ายผลกระทบจะเกิดขึ้นกับทางเลือกของประชาชน ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยนอกที่ไปใช้บริการในรพ.ที่ต้องจ่ายเงินเองโดยไม่ใช้สิทธิทั้งประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 250 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งแน่นอนอาจต้องมีปัญหา อาจจะมีบอกว่าแพงบ้าง 2.5 ล้านครั้ง หรือต่ำกว่านี้ ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเล็กน้อย อย่าไปทำให้โครงสร้างใหญ่เสีย การที่รัฐบาลจะออกกฎเกณฑ์อะไรก็ต้องคิดไตร่ตรองให้รอบคอบว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย หรือข้อเสียมากกว่าข้อดีส่วนที่มีต่างชาติมาร้องเรียน ว่ามาใช้บริการรพ.เอกชนไทย และเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงนั้น เรื่องนี้ต้องดูกันให้แน่ชัด ว่า สัดส่วนของคนที่ร้องเรียนมีกันกี่คน อย่าเอาคนส่วนน้อยมากสร้างผลกระทบ

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image