“บิ๊กอู๋” ย้ำไทยยังคงมุ่งมั่นคุ้มครอง “แรงงานประมง” แม้หลุดใบเหลือง

วันที่ 10 มกราคม ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะผู้บริหาร แถลงถึงท่าทีของกระทรวงแรงงานภายหลังสภาพยุโรป (อียู) ประกาศปลดใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของไทย หรือไอยูยู (IUU) ว่า การปลดใบเหลืองประมงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์มาก ซึ่งเป็นผลงานรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจ กระทรวงแรงงาน กรมการแพทย์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นต้น ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

พล.ต.อ.อดุลย์ แถลงว่า เรื่องนี้มีปัญหาเนื่องมาจากการจับปลาโดยขาดการควบคุม ขาดการรายงานมาอย่างยาวนาน การใช้แรงงานต่างด้าวโดยมีการใช้แรงงานบังคับ ทำให้อียูให้ใบเหลืองประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2558 ในการแก้ไขปัญหากระทรวงแรงงานมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ทั้งด้านอายุแรงงานที่เหมาะสมในการทำประมง เวลาพักในขณะทำงาน การกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม ให้แรงงานประมงได้เข้าถึงสวัสดิการทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพ การปรับปรุง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่เก็บเงินแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพของการควบคุมโดยให้กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง หรือไปโป้ (PIPO) โดยบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจตราการอนุญาตการทำประมง

“กระทรวงแรงงานได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจแรงงาน พร้อมทั้งจัดล่ามในการสื่อสารกับแรงงาน การเพิ่มช่องทางร้องทุกข์ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1506 ให้เป็นศูนย์ร้องเรียนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ จัดทำทะเบียนประวัติ การออกใบอนุญาตทำงาน โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจำนวน 1.2 ล้านคน ทำให้มีการควบคุมแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบมากขึ้น มีการสแกนม่านตาแรงงานในกิจการประมงกว่า 1.7 แสนคน ออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน การรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) P 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับ และล่าสุดเตรียมการรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ซึ่งเน้นเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ความปลอดภัย และให้แรงงานที่ทำงานในเรือมีระบบประกันสังคมอีกด้วย” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวและว่า กระทรวงแรงงานยังคงมุ่งมั่นบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งการออกกฎหมายรองรับการจัดการแรงงานประมงอย่างเป็นระบบ จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่เป็นระบบ มีมาตรการรับคำร้องเรียนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image