นายกสมาคมลั่นรัฐจ่อควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน ทำหุ้นร่วง! หรือ ปท.จะมี รพ.รัฐเท่านั้น

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีการพิจารณาทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562 มีมติเบื้องต้นให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม เบื้องต้นเตรียมตั้งอนุกรรมการเพื่อดำเนินการศึกษาว่า จริงๆ เรื่องนี้ยังไม่ได้ถึงที่สุด คำว่าสินค้าที่ต้องมีการควบคุมที่ว่านั้นหมายถึงว่าต้องมีการเปิดเผยรายการราคาของ รพ.เอกชน ซึ่งก็เปิดเผยอยู่แล้วเพราะตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลให้ทำอยู่แล้ว ให้คิดราคาล่วงหน้า ใช้อะไรก็คิดราคาตามที่เขียนล่วงหน้า ถ้าไม่เขียนล่วงหน้าก็คิดเงินไม่ได้ แต่การจะบอกว่าควบคุมไม่ให้ราคาสูงเกินไปนั้นคิดว่าไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องค่าแรงหมอ พยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนก็ขึ้นทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหมวดต้นทุนรายการที่ใช้นั้นอาจจะกระจัดกระจายกัน เพราะฉะนั้นภาพรวมไม่ได้ทำให้ถูกลงหรอก ถูกลงไม่ได้

นพ.พงษ์พัฒน์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ กกร.มีมติออกมาอย่างนี้ทำให้คนตกใจ และทำให้หุ้นของโรงพยาบาลเอกชนตกลง ซึ่งอาจจะพูดได้ว่ายังเป็นผลกระทบในระยะสั้น ต้องดูทิศทางว่ายังอยากมีโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่ ถ้ายังอยากมีโรงพยาบาลเอกชนหุ้นก็ตกแค่ระยะสั้น แต่ถ้าอยากเลิกไปเลยหุ้นก็ตกระยะยาว

เมื่อถามว่า จะมีการทำหนังสือคัดค้าน หรือชี้แจงเรื่องนี้ต่อกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ นพ.พงษ์พัฒน์กล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะคัดค้านอย่างไร ถ้าอยากจะฟังเราก็ต้องคุยกับเรา เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยทำหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ให้เราพบแล้วจะให้คุยกับใคร ซึ่งจริงๆ ประเทศนี้ต้องออกแบบร่วมกัน เพราะมีทั้งสิ่งที่ท่านรู้และท่านไม่รู้ สิ่งที่ท่านไม่รู้ก็ต้องฟังคนอื่นด้วย ไม่ใช่ไม่ฟัง

“ถ้าประเทศไทยจะมีแค่ รพ.รัฐก็ได้ เอกชนเป็นกิจการเสรี ถ้าไม่มีเอกชนจะเอาอย่างนั้นหรือไม่ แล้วถ้าไม่มีเอกชน รพ.รัฐไหวหรือไม่ รพ.เอกชนเป็นทางเลือก ถ้าเราไม่แฮปปี้กับการรักษาที่ รพ.รัฐก็ไปเอกชน แต่ถ้าเราไม่มีทางเลือก อย่างเช่นเจ็บป่วยฉุกเฉิน รพ.เอกชนก็ช่วยให้ทั้งที่เอกชนเองก็ขาดทุน ขนาดไม่ใช่วิกฤตสีแดงก็ยังขยับขยายให้” นพ.พงษ์พัฒน์กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า การที่จะมีการควบคุมราคายาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องมีระบบจัดการที่ดีด้วย เพราะในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนนั้น จะมีเรื่องต้นทุนที่แตกต่างกัน หากมีการกำหนดราคากลางให้เท่ากันหมด จะกระทบได้ เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กก็จะคิดราคาสูงสุดที่กำหนดไว้ ส่วนโรงพยาบาลใหญ่จะยิ่งประสบปัญหา ที่สำคัญเมื่อไปลดส่วนนี้ ก็จะไปเพิ่มที่ส่วนอื่นอีก เหมือนในอดีตมีการควบคุมการใช้ยาราคาแพงบางตัว ก็จะหันไปใช้ยาตัวอื่นที่มีราคาไม่แตกต่างกัน สุดท้ายก็ควบคุมไม่ได้อยู่ดี

ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพทยสภา จะเป็นในเรื่องค่าธรรมเนียมแพทย์ ตรงนี้ก็ต้องพิจารณาดีๆ เพราะตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีการคิดอย่างไร คิดแบบใด เนื่องจากยังไม่มีการเชิญแพทยสภาเข้าร่วมหารือ ซึ่งค่าธรรมเนียมแพทย์นั้นจะเท่ากันหมดไม่ได้ และที่ผ่านมาแพทยสภาเคยทำไว้แต่นานเป็นสิบๆ ปีแล้ว อย่างค่าธรรมเนียมแพทย์ของเก่า หากเป็นแพทย์ทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาท แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้แพทยสภาอยู่ระหว่างปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ ซึ่งจะแยกสาขาต่างๆ ดังนั้น หากกระทรวงพาณิชย์ จะควบคุมค่าธรรมเนียมแพทย์ด้วยก็ต้องมีการหารือร่วมกันก่อน

“จริงๆ ค่าธรรมเนียมแพทย์ของเดิม ก็เป็นเพียงประกาศคู่มือให้ปฏิบัติ แต่ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่หากไม่ปฏิบัติตามก็จะเข้าข่ายผิดในแง่ของจริยธรรมแพทย์มากกว่า แต่จริงๆ ในเรื่องค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงนั้น มีหลายปัจจัย อย่างเรื่องค่ายา ค่าเวชภัณฑ์สำคัญมาก ที่ผ่านมายาราคาแพง เมื่อเข้าโรงพยาบาลเอกชนจากหลักหมื่น เพิ่มเป็น 3 หมื่นบาทก็มี ซึ่งก็เกินไป จริงๆ ยาราคาแพง หากจะบวกราคาไม่ควรเกิน 50% แต่ก็พูดยาก เพราะแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกันอีก ซึ่งการควบคุมก็ดี เพราะที่ผ่านมาบวกราคากันสูง อาจจะ 200-300 % แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีค่าอย่างอื่นแฝงด้วย มีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่อาจจะไม่รู้ว่าจะนำไปไว้ในค่าอะไรของใบเสร็จก็เพิ่มไว้ในค่ายา เพราะฉะนั้น ส่วนตัวเห็นว่า รพ.เอกชนควรที่จะแสดงใบเสร็จโดยแจกแจงรายละเอียดจริงๆ ตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ไม่ควรนำมาแฝงไว้ในค่ายาแทน ดังนั้น การควบคุมราคาต้องมีการพิจารณาหลายๆฝ่าย ต้องเชิญเอกชนทุกส่วนเข้ามาหารือ ส่วนยาราคาถูกลงมานั้น หากจะบวกราคาเข้าไปจะทำได้มากกว่ายาราคาแพง แต่ก็ต้องดูที่ปริมาณการใช้ ซึ่งทั้งหมดต้องหารือกัน” ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image