วงเสวนาบัตรทอง ‘มาร์ค-คุณหญิงสุดารัตน์-อ๋อย-ธนาธร-ศุภผล’ ผุดไอเดียเพียบ!

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 11 มกราคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดงานรำลึก 11 ปี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ภายในงานมีงานเสวนา “เวทีมองไปข้างหน้า พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ทั้งนี้มีตัวแทนจากพรรคการเมืองหลักเข้าไปร่วมเสวนา ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มภาคประชาชนเข้าร่วม อาทิ นายธนพล ดอกแก้ว ประธานนายกสมาคมเพื่อนโรคไต น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เป็นต้น

นายธนพล กล่าวว่า ขณะนี้ระบบประกันสุขภาพจะมีทิศทางอย่างไรยังไม่ทราบ เพราะไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ใช้หลักประกันสุขภาพมาร่วม 14 ปี มองเห็นความเหลื่อมล้ำของระบบ การรักษาพยบาลที่ไม่เท่าเทียม และการจัดการระบบสุขภาพของ 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ยังไม่เป็นธรรม จึงอยากเห็นการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย โดยการยุบรวมทั้ง 3 กองทุน เป็นกองทุนเดียว เพื่อรัฐสวัสดิการและเพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียว ลดค่ารักษาพยาบาลที่แพงและไม่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันเกิดความเหลื่อมล้ำสูงมากและกระทบต่อการซื้อยารวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้พรรคการเมืองเรื่องระบบประกันสุขภาพเป็นตัวเงิน เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องสุขภาพของประชาชนจะถูกมองเป็นภาระของประเทศ ต่อไปใครป่วยต้องล้มตาย และควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

ด้าน น.ส.บุญยืน กล่าวว่า อยากให้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิการรักษาพยายาลอย่างทั่วถึง เพราะคนไทยทุกคนต้องเสียภาษี แต่กฎหมายปัจจุบันกลับระบุว่า ผู้ที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลจะต้องมีเลข 13 หลัก หรือมีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้คนไทยที่ไม่มีบัตรขาดสิทธิรักษา ต่อมาการทำให้คนป่วยน้อยลงจะทำให้ระบบบัตรทองยั่งยืน ฉะนั้น การปฏิรูปบัตรทองจะต้องมีการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองก่อนถึงโรงพยาบาล รวมถึงการพัฒนาประเทศจะต้องไม่ทำลายล้างประชาชน ทั้งนี้ มองว่าประชาชนทุกคนจะต้องมีหลักประกันสุขภาพ โดยพรรคการเมืองคือความหวังของประชาชน อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับซูเปอร์บอร์ด และไม่ต้องการให้ยุบรวมกองทุน แต่ต้องการให้สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าบัตรทองเป็นระบบรัฐสวัสดิการ เพื่อส่วนรวมของประชาชนและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนที่ควรได้รับ รวมถึงคนชายขอบและผู้ตกหล่นด้วย ส่วนความท้าทายในอนาคตเกี่ยวกับระบบการเงินการคลัง ยังคงมองว่าการรักษาสุขภาพต้องเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมต้องเสียเงินสองต่อ ทั้งเงินสมทบและเสียภาษี พวกเขาควรมีสิทธิในการเลือกที่จะอยู่ระบบ ขณะที่บัตรข้าราชการต้องได้รับการชดเชยและการดูแล อย่าไปมองเรื่องการยุบกองทุน เพราะไม่แน่ใจว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะดีขึ้น เพราะสิ่งที่หลายคนจะได้รับประโยชน์อาจเสื่อมถอยเช่นเดียวกับระบบภาษี ปัจจุบันมีลักษณะถดถอยลงทั้งภาษีเงินได้ของมนุษย์เงินเดือน และข้าราชการที่ต้องจ่าย แต่คนรวยกลับมีช่องโหว่ในการยกเว้นภาษี ตลอดจนค่าพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนจะต้องเข้าไปควบคุม แต่ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการรวมกองทุน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“ก่อนอื่น ปชป.จะปรับปรุงคุณภาพการบริการพยาบาล ต้องนำระบบข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่มาแก้ปัญหา มีระบบรวมข้อมูล เพื่อลดระยะเวลาการรอคิว การจ่ายยา และระบบส่งต่อผู้ป่วย การเพิ่มขึ้นของงบประมาณต้องแยกออกจากระบบการเงินการคลัง สิทธิของกลุ่มต่างๆ จะได้รับการดูแลมากขึ้นและขยายสิทธิประโยชน์ ผู้ซื้อบริการและขายบริการต้องแยกให้ชัดเจน เพราะ สธ.เข้ามาบริหารทำให้ระบบประกันขาดประสิทธิภาพ ต้องทำงานเชื่อมโยงเชิงรุก รวมทั้งการให้ภาคส่วนทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามามีส่วนร่วมให้เข้ามาบริหารจัดการได้ รวมถึงดึงคลินิกเอกชนเข้ามาช่วยจัดการบริการเพื่อให้การบริการอย่างครอบคลุม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า บัตรทองเป็นหลักวิชาการที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกคนเข้ารับการรักษายาพยาบาลอย่างทัดเทียมและทั่วถึง ประเด็นนี้ยังเป็นหลักที่ต้องยึด เพราะทำให้ประเทศเดินข้ามพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยบัตรทองช่วยให้ครอบครัวที่มีหนี้สิน ล้มละลายน้อยลง

Advertisement

“การต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอายุขัยเฉลี่ยมากขึ้น สุขภาพแข็งแรงและอายุยาวนานขึ้น 17 ปี ที่บัตรทองเดินหน้ามาจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อผู้นำนโยบายเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบบบัตรทองเปลี่ยนแปลงจนลืมหลักการ แม้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อัตราแพทย์และพยาบาลเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการไม่มีความสุข ต้องจ่ายค่าตอบแทนเหมาะสม โดยวันนี้ต้องถูกปรับใหม่” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวและว่า การทำ 30 บาทรักษาทุกโรค ยุคใหม่ต้องปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ โดยให้คนเป็นศูนย์กลาง ต้องปรับปรุงการบริหารจัดการเรื่องของการกระจายอำนาจระดับเขต ระดับโรงพยาบาล เพื่อให้การบริหารจัดการบูรณาการทำงานร่วมกัน หน่วยงานสาธารณสุขต้องได้รับการดูแล ลดการบั่นทอนจิตใจ เพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมและจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

 

“พท.มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ทั้งระบบฐานข้อมูล เอไอ โมบายในการช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่และเล็ก ตลอดจนใช้สมาร์ทโฟน ลดคิวยาว เลือกหมอได้ โดยทุกนโยบายต้องมุ่งเน้นเพื่อประชาชน รวมถึงให้ความสำคัญกับแม่และเด็ก ซึ่ง พท.เป็นคนเริ่มต้น และจะสนับสนุนสิ่งที่เราเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ประชาชน ไม่ใช่ประชานิยม” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า พปชร.ต้องการเตรียมความพร้อมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าการลงทุนทางการแพทย์และสุขภาพจะช่วยให้มีผลตอบแทน บัตรทองต้องไม่มองเรื่องของการเมือง จำเป็นต้องเดินหน้าสานต่อ และทำต่อให้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจะผูกเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ลืมหลักคิด การส่งเสริม ป้องกัน รักษาคุ้มครองเป็นหลักคิดที่ดีขึ้น ประเด็นท้าทายต้องตอบคำถามว่า ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิถ้วนหน้าหรือไม่ ต้องนำผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนเข้ามาร่วม เมื่อมีสิทธิแล้วประชาชนได้เข้าถึงสิทธิจริงหรือไม่  เมื่อเข้าถึงแล้วได้รับการบริการที่ดีเพียงใด บริการที่ให้ไปแล้วมีการบริหารจัดหารที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไร ในเรื่องรัฐสวัสดิการต้องเป็นเป้าหมายจะต้องไปให้ถึง มองว่าแต่ละระบบจะต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และบัตรข้าราชการ โดย พปชร.กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้ ทั้ง 3 กองทุนมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน และครอบคลุม

นายธนาธร กล่าวว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความสำคัญ คือ “ประกัน” ไม่เคยมีมาก่อนที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้รับการประกันว่าเป็นสิทธิในประเทศไทย “ถ้วนหน้า” สิทธิถ้วนหน้าทุกคนได้รับสิทธิถ้วนหน้าและเท่าเทียมเหมือนกันทุกคน แต่ผลกระทบทำให้การเปิดมิติใหม่ของการเมืองว่าประชาธิปไตยกินได้จริงๆ ว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปได้จริง ต่อมาคือ อิฐก้อนแรกในการสร้างอนาคตของคนไทย ซึ่งระบบบัตรประกันเป็นก้าวแรกในการพัฒนาประเทศ และเป็นโครงการที่เปิดทาง ถากถางให้คนรุ่นใหม่ เดินต่อไปข้างหน้าอนาคตได้ง่าย ซึ่งการเดินทางยังไม่จบสิ้น สิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันยังไม่ใช้รูปแบบสุดท้ายของการพัฒนาแและยังคงต้องดำเนินไปข้างหน้า สำหรับอนาคตใหม่อยากเห็นระบบประกันที่ถ้วนหน้าและทุกคนได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมอย่างแท้จริง สิทธิข้ารากชการต้องโตในอัตราที่น้อยลง และให้สิทธิบัตรทองโตมากขึ้น โดยต้องไม่ให้ข้าราชการคิดว่าสิทธิของตัวเองน้อยลง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันถ้วนหน้าเป็นโครงการที่ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิในการักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน โดยจุดเริ่มต้นระบบต้องการให้มีการปรับปรุงระบบผ่านกลไก โดยรัฐเป็นผู้จ่ายให้ประชาชนคิดเป็นต่อหัว หลักการดังกล่าว เมื่อทำจริงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เดิมหลักบัตรประกันต้องการให้มีการปรับปรุงทั้งระบบ ทำให้ระบบหลักประกันปัจจุบันกลายเป็นการโจมตีทางการเมือง สำหรับความเท่าเทียมทั้ง 3 กองทุน ควรทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ถ้าจะนำมารวมกันให้เหมือนกันทั้งหมดนั้น ต้องคำนึงผู้ที่ทำประกันสังคม ซึ่งกว่าจะเกิดขึ้นต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน ส่วนสวัสดิการข้าราชการจะช่องโหว่มาก อย่างไรก็ตาม เห็นควรให้ปรับปรุงให้เท่าเทียม แต่การทำให้เหมือนกันทั้งหมดจะทำให้กระทบต่อกองทุนอื่น

“4-5 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามล้มระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ระบบสั่นคลอน ต้องมาตั้งหลักกันใหม่ เริ่มจากการสนับสนุนให้ระบบเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาเดิมและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น ปัญหาคิวยาว หมอขาดแคลน การดูแลสุขภาพต้องครอบคลุมโรคยากและการผ่าตัดใหญ่ เสนอให้แก้การบริหารจัดการโรงพยาบาลทุกขนาด ลดการส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลขนาดเล็กไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ต้องให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถทำอะไรได้มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถ ต้องให้คนหาหมอใกล้บ้านให้ได้ จัดความสำคัญระบบใหม่ และนำเทคโนโลยีมาใช้” นายจาตุรนต์ กล่าว

ทพ.ศุภผล กล่าวว่า การทำให้เกิดนโบายเแต่ละเรื่องจะต้องรับฟังเสียงของประชาชน เพื่อทำนโยบายให้ตอบโจทย์ โดยการเดินคารวะแผนดิน พบว่าปัญหาสุขภาพสัมพันธ์กับสุขภาพคนไทย หากจะแก้ปัญหาสุขภาพจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเรื่องอื่นด้วย เช่น นโยบายอาหารปลอดภัย เป็นต้น รปช.เห็นว่าหลักประกันสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศ แต่เป็นส่วนสำคัญของคนไทย ทุกพรรคควรส่งเสริมและพัฒนาระบบให้ดีขึ้น แต่รอบ 15-16 ปี ไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง รปช.มองว่างานส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยหัวใจอยู่ที่ชุมชนและหมู่บ้าน รพ.สต. โรงพยาบาลศูนย์ จะต้องยกระดับการบริการให้มีศักยภาพสูงเพียงพอ โดยที่ประชาชนไม่เดินทางเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลใหญ่ในเมือง

“ระบบได้พัฒนาอย่างเข้มแข็งและมั่นคงแล้ว แต่ยังไม่ครบวงจร เพราะไม่มีการลงทุนทางการแพทย์และพยาบาล ถึงเวลาต้องมีการลงทุนด้านสุขภาพ หากได้ร่วมรัฐบาล ควรจะมีการจ้างพยาบาลชุมชนอย่างน้อย 10,000 คน และเพิ่มผู้ดูแลผู้ป่วย 100,000 คน ทั่วประเทศ และจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม เพิ่มศักยภาพของ อสม.และให้ค่าตอบแทน ต้องมีแพทย์จบใหม่บรรจุใน รพ.สต.ทั่วประเทศ และต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับแพทย์แผนไทยยกระดับ รพ.ชุมชน 200 แห่งให้ครบวงจร เช่น อาคารสถานที่ บุคลากร ไม่ต้องหลั่งไหลเข้ามายังโรงพยาบาลใหญ่ รวมถึงให้ความสำคัญแก่ผู้สูงวัย พร้อมยกระดับหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ” ทพ.ศุภผล กล่าว

ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image