ผู้อ่านมติชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชน ‘ปรียนันท์’ ร่วมแสดงความเห็นอีก

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พิจารณาทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2562 มีมติเบื้องต้นให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม ซึ่งจะมีการตั้งอนุกรรมการพิจารณาอีกนั้น ปรากฏว่ามีเสียงจากฝั่งโรงพยาบาลเอกชน และฝั่งแพทยสภาเป็นห่วง ว่า จะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเมื่อควบคุมราคาส่วนนี้จะไปปูดส่วนอื่น ที่สำคัญรพ.เอกชนมีต้นทุนไม่เท่ากัน ประกอบกับรพ.เอกชน ก็เป็นทางเลือกให้ประชาชน เนื่องจากประชาชนมีสิทธิบริการทางการแพทย์ตามสิทธิของตัวเองอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลเอกชนเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่พร้อมจ่าย
ส่วนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มองว่า ทำได้ก็จะเป็นเรื่องดี แต่กังวลว่าอาจทำไม่ได้จริง และตั้งคำถามว่า การออกนโยบายตอนนี้เพราะใกล้เลือกตั้งหรือไม่นั้น

*มติชนชวนท่านแสดงความคิดเห็น “ท่านคิดเห็นอย่างไรกรณีรัฐ เตรียมควบคุมค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน เนื่องจากราคาสูงและแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ท่านคิดว่าควรควบคุมราคาหรือไม่ อย่างไร 1.ควร 2.ไม่ควร

ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 87 ควรควบคุม และร้อยละ 13 ไม่ควรควบคุม ซึ่งการสำรวจมาจากผู้อ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ ที่เข้ามาร่วมกด 1 พันโหวต

โดยมีความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ระบุว่า

Advertisement

“ต่อกรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและค่าบริการ (กกร.) มีมติให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุม จะเสนอต่อครม.ในวันที่ 22 ม.ค.62 ที่จะถึงนี้นั้น

1.ดิฉันเห็นด้วย แต่ถ้ารับหลักการแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะควบคุมได้ทันที ต้องมีขั้นตอนตั้งคณะกรรมการ + อนุกรรมการ ศึกษาหาข้อมูลหาข้อสรุป ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เหมือนเป็นการนับหนึ่งใหม่ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านของภาคธุรกิจรพ.เอกชน เชื่อว่าจะมีปัจจัยสอดแทรกมากจะสำเร็จได้ยาก

เห็นว่าควรใช้ข้อมูลเก่า ที่สมัยอดีตรัฐมนตรีรว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ได้ตั้งคณะกรรมการและศึกษาข้อมูลเหล่านั้นไว้แล้ว สามารถนำมาดำเนินการต่อได้เลย

Advertisement

แต่มีความกังวลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันท่านให้สัมภาษณ์สื่อว่า
“การจะกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมนั้น ต้องมีการคุยกัน แต่ไม่ใช่ลักษณะของการบังคับให้เอกชนต้องทำตาม เพราะค่ารักษาพยาบาลแต่ละแห่งมีหลายอย่างประกอบกัน ต้นทุนต่างกัน ค่าใช้จ่ายต่างกัน ซึ่งค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่อาหาร ไม่ใช่เนย สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการประกาศค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทราบ เพื่อจะได้รู้งบประมาณ และเตรียมพร้อมด้านการเงิน”
เมื่อรัฐมนตรีพูดเช่นนั้นแล้ว ดิฉันเห็นว่าเรื่องจะควบคุมได้หรือไม่ กลายเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม เพราะแรงต้านจากภาคเอกชนสูงมาก
——
2.ดิฉันเห็นว่า การแก้ปัญหา ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จะควบคุมต้องมีตรวจสอบคู่กันไป เพราะรากเหง้าของปัญหานี้คือ ปชช. ปชช.เดือดร้อนและร้องเรียนว่าค่ารักษารพ.เอกชนแพง ถูกโกง ถูกคิดเกินจริง แต่ต้องไปร้องเรียนหลายหน่วยงานเช่น สคบ. อย. กรมสนับสนุนฯ กรมการค้าภายในและแพทยสภา ซึ่งแต่ละที่ก็มีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน ใช้เวลาต่างกัน ไม่ทันต่อความเดือดร้อนของปชช. หลายกรณีถูกรพ.ฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ยังไม่มีใครช่วยพิสูจน์ให้ว่าค่ารักษานั้นเกินจริงหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับปชช.อย่างยิ่ง และเวลาถูกฟ้อง ปชช.เสียเปรียบ เนื่องจากทางรพ.จะให้คนไข้หรือญาติเซ็นยินยอมรับผิดชอบค่ารักษาก่อนการรักษาจะเริ่ม

3.สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ การตั้งคกก.ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีการลงชื่อผ่าน Change.org กันมากกว่า 5 หมื่นชื่อ (https://bit.ly/2hNqQhS) ปชช.อยากให้มีหน่วยงานกลางที่เป็น One Stop Service ไม่ต้องวิ่งไปหลายหน่วยงานอีกต่อไป มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตรวจสอบ และช่วยชะลอการฟ้องปชช.ของรพ.คู่กรณีไว้จนกว่าการตรวจสอบจะเสร็จสิ้นฯลฯ

4.ขณะนี้ กกร.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 1 ชุด ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ทำหน้าที่ศึกษาและพิจารณา หาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการดูแลยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและโรงพยาบาลเอกชน

ดิฉันมีความเห็นว่า ควรยกระดับอนุกรรมการชุดนี้ เป็นคณะกรรมการกลางที่เป็น One Stop Service รับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าให้ประชาชนก่อน จึงจะเป็นการตอบสนองทุกข์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง

อีกทั้งจะได้รู้ปัญหาที่แท้จริงว่าแพงเพราะอะไร เป็นเพราะต้นทุนสูงดังที่รพ.เอกชนอ้างจริงไหม หรือเป็นเพราะศรีธนญชัยไปบวกรายการที่ไม่ได้ใช้ลงในบิล หรือเป็นเพราะรักษาเขาเกินจริง เมื่อรู้ปัญหาที่แท้จริงแล้วค่อยมีมาตรการคุมเป็นอย่าง ๆ ไป

ส่วนจะควบคุมได้หรือไม่นั้น
ค่อย ๆ ทำกันไปเพราะเรื่องนี้ยาวแน่นอนค่ะ

นอกนั้นยังมีความคิดเห็นจากผู้อ่านอื่นๆ อาทิ

“ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่ควรมีการควบคุมบ้าง มิใช่อยากจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้แบบในปัจจุบันนี้ เช่น ยาพารา 1 แผง ซื้อจากร้านขายยา 10 บาท ในรพ.เอกชนก็ควรไม่เกิน 20 บาทเป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละรายการด้วย เช่นการทำ CT รพ.A ใช้เครื่องแบบ 64 Slides ราคาควรจะต้องถูกกว่า รพ.B ที่ใช้เครื่องแบบ 128 Slices เป็นต้น”

“ค่ายา ค่าแพทย์ ไม่น่าใช่ปัญหา ที่สูงเกินจริงน่ามาจากค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ รพ.เอกชนมักนำมาบวกใน bill ซ้ำซ้อนจนมั่วไปหมด ทำให้ไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายได้”

ความคิดเห็นอื่นๆ คลิก

ยังมีความคิดเห็นจากทวิตเตอร์มติชนออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 85 เห็นว่าควรควบคุม และร้อยละ 15 เห็นว่าไม่ควรควบคุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image