ปธ.บอร์ด อภ.ไม่มั่นใจคณะทำงานหาทางออก ‘สิทธิบัตรกัญชา’ ที่ผ่านมาไร้คำตอบต่อสังคม

ปธ.บอร์ด อภ.ไม่มั่นใจคณะทำงานหาทางออก สิทธิบัตรกัญชา เหตุที่ผ่านมาขอคำอธิบายใดๆ กรมทรัพย์สินฯเมิน พร้อมหาทางออกพัฒนาสายพันธุ์กัญชาหาสารสำคัญรักษารายโรคแทน แม้จดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่หวังผลทางการแพทย์เพื่อผู้ป่วย

ตามที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกับทางภาคประชาสังคม ทั้งมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอช) มหาวิทยาลัยรังสิต โดยตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่แต่ละฝ่ายมี และหาทางออกในการแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรกัญชา ขณะที่มหาวิทยาลัยรังสิตขีดเส้น 7 วันต้องยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาจากต่างชาติ หากไม่ทำจะเดินหน้าฟ้องร้อง และเคลื่อนไหนต่ออย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม

>หมอจุฬาฯ ชี้มีทางออก ‘สิทธิบัตรกัญชา’ หากพณ.เมิน ไทยเข้าวิกฤต ต่างชาติกอบโกย!!

Advertisement

>‘สนธิรัตน์’ หารือภาคประชาสังคม-ม.รังสิต ไร้ข้อสรุป ‘สิทธิบัตรกัญชา’!! ไบโอไทยลั่นซื้อเวลา (มีคลิิป)

สิทธิบัตรกัญชา-ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงกรณีตั้งคณะทำงานร่วมว่า การตั้งคณะทำงานร่วมนั้น ตนไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาได้จริงหรือไม่ เกรงว่าจะทำให้ล่วงเลยเวลาไปอีก ภายใน 7 วันที่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตกำหนดว่าต้องเคลียร์ให้ได้ ก็ดูจะไม่เป็นจริง เพราะหากทำได้จริง ก็ควรดำเนินการได้ตั้งนานแล้ว ที่สำคัญประเด็นข้อท้วงติงเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ เบื้องต้นมี 13 คำขอนั้น ก็ชัดเจนว่าขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 9 ที่ระบุว่า ห้ามขอจดสิทธิบัตรกัญชาที่เป็นสารจากธรรมชาติ ซึ่งทำไม่ได้ ก็ไม่ควรผ่านตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่นี่ผ่านมาจนถึงประกาศโฆษณา โดยข้อท้วงติงเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีข้อท้วงติงอื่นๆ ที่เคยเป็นข่าวใหญ่โตมากมาย แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้คำอธิบายอย่างชัดเจน

“หากคณะทำงานร่วมฯแก้ปัญหาสิทธิบัตรที่เป็นปัญหาได้จริง ทำให้สังคมคลายข้อสงสัยได้ ทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาสังคมทราบข่าวจากกลุ่มคัดค้านเพียงอย่างเดียว แต่ฝ่ายที่ต้องชี้แจงให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนกลับไม่มีคำอธิบายเป็นข้อๆ แล้วจะให้ประชาชนเข้าใจอย่างไร แม้แต่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เคยทำหนังสือไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอให้ตอบคำถามต่างๆ และขอความมั่นใจว่า อภ.จะทำการพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคจะทำได้หรือไม่ อย่างไร มีการทวงถามไปก็ไม่ได้คำตอบ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ผมจึงยังไม่แน่ใจ แม้ท่านสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญและตั้งคณะทำงานร่วมฯ แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ มีกรอบเวลาชัดเจนแค่ไหน” นพ.โสภณกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อผลการหารือยังไม่ชัดเจน ต้องรอออกไปอีก 7 วัน ทาง อภ.จะดำเนินการอย่างไร นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้ อภ.มีคณะทำงานพิจารณาเรื่องกฎหมาย เพื่อดูว่าเรื่องสิทธิบัตรจะส่งผลต่อการทำงานของ อภ.อย่างไร แต่เมื่อทุกอย่างยังไม่ชัดเจน ทาง อภ.จะมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์ไทยแทน โดยพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสารสำคัญเพื่อรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง สายพันธุ์ที่ 1 มีสารสำคัญรักษาโรค ก.ได้ หรือสายพันธุ์ที่ 2 มีสารสำคัญรักษาโรค ข.ได้ เป็นต้น โดยจะผลิตสารในรูปของน้ำมันจากดอกกัญชา ซึ่งมีกฎหมายที่กำลังคลายล็อกออกมาให้สามารถใช้ทางการแพทย์ได้

“อภ.ต้องใช้รูปแบบนี้เพื่อให้เดินหน้าใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ โดยไม่สามารถไปจดสิทธิบัตร เพราะเราจะเน้นพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่มีประสิทธิภาพรักษาโรค เมื่อได้สารสำคัญ หรือน้ำมันกัญชาออกมาก็จะนำมารักษาโรคได้เลย โดยไม่ต้องไปปรุงแต่งหรือปรับปรุงอะไรอีก เพียงแต่จะจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะเป็นสารธรรมชาติที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯห้ามอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องปฏิบัติตาม นี่น่าจะเป็นทางออกสำหรับสถานการณ์แบบนี้” ประธานบอร์ด อภ.กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image