สธ.ตั้งศูนย์เฝ้าระวัง ‘ฝุ่นพิษ’ เผยข้อมูลย้อนหลัง 5 เดือนป่วย 364 รายไม่ชัดสาเหตุ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข  กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข   แถลงข่าวการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ว่า   ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 กรมอนามัยมีการติดตามเฝ้าระวังมาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม  2561 ซึ่งขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เพื่อเฝ้าระวังโรคและผลกระทบสุขภาพจากภาวะฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณมาก ซึ่งศูนย์จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาล รวมไปถึงโซเชียลมีเดีย  โดยจะดำเนินงานจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติด้านสุขภาพจากปัญหาดังกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ร่างกายจะมีการกรองฝุ่นในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ PM2.5 จะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไปได้ลึกถึงปอดมากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าการสัมผัสฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพทันที เพราะเป็นเพียงความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับปริมาณ ความเข้มข้น ระยะเวลา ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่า จะต้องได้รับมากน้อยหรือเวลามากเท่าใดจึงจะเกิดปัญหา ทางที่ดี คือ ลดความเสี่ยงในการสัมผัสลง ก็เหมือนกับการขับรถยนต์ ขับรถเร็วก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมาก แต่ไม่ได้แปลว่าคนขับรถช้าจะไม่เกิดอุบัติเหตุเลย ซึ่งการป้องกันนั้น ทางหนึ่งคือ การใช้หน้ากากอนามัย แต่พบว่า มีจำนวนหนึ่งยังเข้าใจและใช้หน้ากากอนามัย N95 ไม่ถูกต้อง ซึ่งอยากจะชี้แจงว่า หน้ากาก N95 ไม่ใช่คำตอบเดียวในเรื่องดังกล่าว

“หน้ากาก N95 มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันฝุ่น PM2.5  ได้มากกว่า 90% แต่ก็ต้องใส่ให้ถูกต้อง ที่เรียกว่าฟิตเทสต์ คือ จะต้องแน่นมากพอจนรู้สึกว่า ไม่มีอากาศผ่าน ซึ่งหากใส่ไม่ถูกต้องก็ไม่มีผลอะไร อย่างไรก็ตาม แม้จะใส่อย่างถูกต้องก็ใส่ได้ไม่นาน โดยเฉลี่ยคือประมาณ 20 นาที ก็จะมีปัญหาหายใจไม่สะดวก ดังนั้น จึงอยากชี้แจงว่าหน้ากาก N95 ยังไม่ได้จำเป็นถึงขั้นนั้น หากเป็นคนปกติอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ แต่หากอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงหรือต้องเข้าไปในพื้นที่ หากใช้เวลาไม่นาน เช่น 10-20 นาที ก็อาจไม่ต้องทำอะไร เพราะไม่ใช่ว่าสัมผัสฝุ่นแล้วจะเกิดผลกระทบเลย แต่หากต้องสัมผัสเป็นเวลานานขึ้น เช่น ต้องรอรถเมล์เป็นเวลานาน และต้องอยู่บนรถเมล์ร้อนตามถนนเกิน 1 ชั่วโมง ก็อาจสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน ซึ่งหน้ากากอนามัยปกติก็สามารถป้องกันได้ 50% ซึ่งก็มีข้อมูลงานวิจัยอยู่ว่า การนำทิชชูมารองเพิ่มอีก 2 ชั้นก็สามารถช่วยป้องกันได้มากขึ้น เพราะ N95 ก็ใส่ได้ไม่นานเกิน 20 นาทีอยู่แล้ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมฯ ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมพร้อมเฝ้าระวังเรื่องฝุ่น PM2.5 มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  2561 เพราะทราบดีว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคม – มกราคม  โดยอาศัยข้อมูลจากทาง คพ.และ กทม. หากพบว่าพื้นที่ใดอยู่ในระดับสีส้มขึ้นไป คือ มีความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพค่อนข้างมาก หรือมีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ก็จะมีการแจ้งเตือนและให้คำแนะนำประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาทุกวัน

Advertisement

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คร.มีระบบเครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบฝุ่น PM 2.5 ในโรงพยาบาล 22 แห่ง ในกลุ่มเสี่ยงคือผู้ป่วยหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ซึ่งขณะนี้มีรายงานเข้ามาเบื้องต้นเพียง 7 โรงพยาบาล โดยเป็นข้อมูลย้อนหลัง 5 เดือน คือ ช่วง สิงหาคม – ธันวาคม 2561 พบว่ามีผู้ป่วยรวมประมาณ 364 ราย ซึ่งสถานการณ์ไม่ต่างจากปีก่อนหรือปี 2560 แต่อย่างใด  ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจก่อนว่า จำนวนผู้ป่วยใน 3 กลุ่มโรคอาจมาจากสาเหตุอื่นๆร่วมด้วย ไม่สามารถบอกได้ชัดว่า เกิดจากฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเพียงอย่างอื่นหรือไม่

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.)กล่าวว่า ตอนนี้มาตรการยังคงเป็นการขอความร่วมมือประชาชนในการลดความเสี่ยง และลดการกำเนิดฝุ่น PM2.5 เช่น ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลโดยเฉพาะรถเก่าที่ก่อให้เกิดควันดำ วางแผนการเดินทางโดยเลือกเส้นทางที่รถติดน้อย เพราะยิ่งรถติดมากก็ยิ่งก่อมลพิษมาก การเลิกเผาในที่แจ้ง การปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นซึ่งช่วยลดมลพิษในอากาศได้ เป็นต้น  เรียกว่าเป็นมาตรการจากเบาไปหาหนัก เพราะหากออกมาตรการเข้มเลยก็อาจทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างได้ ส่วนระดับใดถึงจะวิกฤตที่จะต้องออกเป็นมาตรการทางกฎหมายในการห้าม อาจพิจารณาว่า ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดงทั้งวันและกินระยะเวลามากกว่า 3-4 วัน ก็อาจจะมีการออกมาตรการต่างๆ เช่น ห้ามรถดีเซล มาตรการวันคู่วันคี่ ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการเหล่านี้หากนำม่าใช้เลยจะเกิดผลกระทบอย่างมาก แต่หากอนาคตเมื่อระบบขนส่งสาธารณะมีความสมบูรณ์ ก็อาจเป็นทางเลือกในการดำเนินการ

รองอธิบดีคพ. กล่าวว่า ส่วนคุณภาพน้ำมันที่จะเปลี่ยนไปสู่ยูโร 5 หรือยูโร 6 ขณะนี้ก็มีการหารือในส่วนของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งการจะเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันจะต้องมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตใหม่ ซึ่งก็ต้องดูว่ามีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเมื่รไ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันได้ ก็จะนำมาสู่การเปลี่ยนรถยนต์ในอนาคต แต่ก็พบว่า น้ำมันยูโร 5 เมื่อนำมาใช้กับรถที่เป็นยูโร 3 หรือ 4 ก็ช่วยลดมลพิษลงได้ ซึ่งขณะนี้มี ปตท. บางจาก ที่มีการจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 แต่มีไม่มากนัก

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image