ศิริราช-จุฬาฯ ชี้กรณีโซเชียลฯแชร์ภาพไอจามรุนแรงเป็นเลือด ไม่ใช่ฝุ่นพิษเป็นหลัก

ศิริราช-จุฬาฯ ชี้กรณีโซเชียลฯแชร์ภาพไอจามรุนแรงเป็นเลือด เชื่อจากฝุ่นพิษ อาจมีสาเหตุอื่นร่วม หรือเป็นโรคประจำตัวอยู่ก่อน ต้องพบแพทย์วินิจฉัย

เมื่อวันที่  16 มกราคม รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล  หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจ และวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูลกรณีชายผู้หนึ่งออกมาโพสต์เตือนผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน จนมีอาการแสบจมูก แสบคอ ถึงขั้นจามเป็นเลือดจำนวนมาก  ว่า  เชื่อว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวน่าจะมีโรคประจำตัว เพราะในคนปกติ จะไม่มีอาการไอจามเป็นเลือด เมื่อเจอกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่อาจเจอกับภาวะคอแห้ง แสบจมูกได้  ส่วนอาการไอจามเป็นเลือดอาจเกิดได้จากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

“ส่วนกรณีระบุว่ามีสมุนไพรป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้นั้น  ยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องข้อมูล แต่ที่แน่ชัด และดีที่สุด คือการเลี่ยงพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง งดทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง  ในพื้นที่วิกฤตสีแดง และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากฝุ่นสูงขึ้น คาดว่าตัวเลขจะเห็นชัดในอีก 3 เดือนข้างหน้า สำหรับปัญหาคนแห่ซื้อหน้ากากอนามัย N95  จนขาดตลาดนั้น  เห็นว่าหน้ากากาอนามัยเป็นการป้องกัน สามารถสวมหน้ากากอนามัยธรรมดา 2 ชั้น เพื่อกรองอากาศทดแทนได้  หรือใช้ผ้าขาวม้า เย็บ 4 ชั้น แทน แต่ว่าควรแก้ที่ต้นเหตุด้วย คือการลดแหล่งเกิดฝุ่นละออง” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

ด้าน นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีว่า การจามเป็นเลือดมีหลายสาเหตุ ซึ่งหากเกิดขึ้นเฉียบพลันเพียงครั้งเดียว ก็อาจเป็นปัญหาที่เราเจอบ่อยๆ คือ เส้นเลือดฝอยในจมูกแตก ถามว่าสัมพันธ์กับการหายใจเอาฝุ่นลงไปหรือไม่ ก็แน่นอนว่า ถ้าทำให้เกิดการระคายเคืองและจามอย่างรุนแรงก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ แต่ว่าก็ต้องไปหาสาเหตุด้วยว่ามีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ หรือเกิดขึ้นเพียงหนเดียวแล้วหายไป

Advertisement
นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

“ผมคิดว่า เป็นปัญหาที่ตอบยาก แต่ถามว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อเกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ การไอหรือจามรุนแรงบางครั้งก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้เหมือนกัน ถ้าเลือดออกคงต้องมีการประเมินให้ดีว่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาอื่นร่วมด้วยหรือไม่ แต่ก็เป็นไปได้ที่ไอจามรุนแรงแล้วเลือดออก โดยที่ไม่มีโรคร้ายแรงแต่อย่างใด  หากเลือดออกเพียงหนเดียวที่สัมพันธ์กับอาการไอหรือจามรุนแรง แนะนำว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจมาจากการระคายเคือง ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกแล้วเป็นเลือดออกมา ก็อาจแค่เฝ้าระวังก่อน ยังไม่ต้องถึงขั้นไปพบแพทย์ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น และมีเลือดออกต่อเนื่อง หรือมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น มีไข้ เจ็บคอมาก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร” นพ.ฉันชาย กล่าว

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า การมีเลือดออกทางจมูก นอกจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตกแล้ว ยังเกิดจากสาเหตุอื่นได้ คือ อาจมีรอยโรคทางจมูกที่ทำให้เลือดออกได้ หรือโรคเรื้อรังที่ทำให้มีอาการเลือดออกทางจมูกบ่อยครั้ง เป็นๆ หายๆ หรือถ้าไอออกมาเป็นเลือดก็ต้องระวังการติดเชื้อในปอดที่ทำให้เกิดการไอเป็นเลือดได้ ซึ่งต้องไปหาสาเหตุ  ช่วงนี้ขอแนะนำให้ติดตามข่าวสารหรือระดับฝุ่นละอองของพื้นที่รอบตัวให้ดี ถ้ามีฝุ่นละอองระดับสูง เช่น ถ้าฝุ่น PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ก็แนะนำว่าว่าออกไปข้างนอกถ้าไม่จำเป็น หรือหากต้องออกไปก็อาจป้องกันด้วยอุปกรณ์เท่าที่เราหาได้เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัส แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคปอด โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด ก็อาจพิจารณาว่าถ้าค่าเกิน 30 มคก./ลบ.ม.ก็อาจเลี่ยงการออกจากบ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image