นายกฯจี้ 4 หน่วยงาน ทำความเข้าใจ ‘กฎหมายกัญชา’

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า นายกฯมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกรณีการปลดล็อกสิทธิบัตรกัญชา ซึ่งมีกฎหมายกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ… ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่…) พ.ศ.. ทั้งนี้ การปลดล็อกกัญชาไม่ได้อนุญาตให้มีการเสพกัญชาโดยเสรี แต่เป็นการปลดล็อกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)

ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ยธ. กล่าวว่า ตามกฎหมายปัจจุบัน กัญชาเป็นยาเสพติด การแก้ไขกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยกัญชายังคงเป็นยาเสพติด หลักการสำคัญคือจะมีการอนุญาตให้ศึกษาวิจัยในเรื่องกัญชาได้ รวมถึงอาจมีการอนุญาตให้มีการปลูกในลักษณะของการควบคุม ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายลำดับรองที่จะต้องออกตามมาว่าจะเปิดโอกาสให้มีการปลูกได้อย่างไร ดังนั้น ที่มีกระแสออกมาว่าจะเปิดให้มีการปลูกได้เป็นการทั่วไปนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนการวิจัยและการดำเนินการต่างๆ ทาง สธ.จะเป็นหน่วยงานที่ต้องเข้ามาดูแลควบคุม

Advertisement

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ทาง สธ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาคนไข้ ซึ่งสังเกตว่ามีความเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในส่วนของกัญชามีสารสำคัญที่เป็นยา แตกต่างกับสารเสพติด สิ่งที่เราจะทำคงไม่ใช่การนำกัญชามาเป็นยารักษาโรคธรรมดา แต่มีการนำมาสกัด ซึ่งสารที่ได้จะไม่มียาเสพติด เป็นการนำสารสกัดที่ได้มาผลิตยาเพื่อใช้ในการลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากโรคต่างๆ ที่จะต้องมีงานวิจัยรองรับ โรคลมชัก หรือโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น โดยสารเหล่านี้มีการใช้แล้วในต่างประเทศบางแห่ง อย่างไรก็ตาม ทาง สธ.จะดูว่าหากอนุญาตให้นำสารสกัดกัญชามาใช้ในด้านสาธารณสุขจะใช้ในส่วนไหน ลำดับแรกคือในการรักษาโรคและใช้ในการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพ และมีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการนำมาใช้จะต้องมีกฎหมายรองรับ กำหนดกลุ่มผู้ใช้ สถานที่ และต้องมีการเลือกสายพันธุ์ที่พร้อมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

Advertisement

ขณะที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัด พณ. กล่าวว่า พณ.จะเกี่ยวข้องในเรื่องการขอจดสิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์โดยอาจจะเป็นยา ที่มีการนำส่วนผสมของสารสกัดที่ได้จากกัญชามาทำยารักษาโรค ทั้งนี้ จากการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการยื่นคำขอเพื่อจดสิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชาอยู่ทั้งหมด 13 คำขอ ส่วนใหญ่เป็นคำขอจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การยื่นคำขอดังกล่าว ทาง พณ.เพียงแต่รับหลักฐานต่างๆ ไว้พิจารณาตามหลักการ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีการคุ้มครองสิทธิบัตรนั้นแล้ว และแม้ว่าในอนาคตจะมีการรับจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์สารสกัดที่ได้จากกัญชาก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิบัตรนั้น สามารถทำการซื้อขายได้อย่างเสรี เพราะต้องดูกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นหากกัญชา หรือส่วนผสมของกัญชา ยังเป็นสิ่งเสพติดตามกฎหมาย แม้จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรในแง่สิ่งประดิษฐ์ ก็จะต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยว่าจะจำหน่ายได้หรือไม่อย่างไร

นายบุณยฤทธิ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดชัดเจนว่าสารสกัดจากพืชไม่สามารถรับจดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น หากเป็นสารสกัดจากพืชมาล้วนๆ ก็ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เพราะไม่เป็นไปตามกฎหมาย แม้จะรับคำขอไว้พิจารณาการรับจัดสิทธิบัตรได้ มีหลักการใหญ่คือต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือเป็นการต่อยอดจากสิ่งประดิษฐ์เดิม และต้องสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ในทางอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image