มหิดลร่วมแถลงหาแนวทางป้อง ‘ฝุ่นพิษ’ ชี้กลุ่มเด็ก -20 ปี ระวังประสิทธิภาพปอดลดลง 

มหิดลร่วมแถลงหาแนวทางป้อง ‘ฝุ่นพิษ’ ชี้กลุ่มต้องระวังมีผลระยะยาว คือ กลุ่มเด็ก-20 ปี  อาจมีผลทำประสิทธิภาพปอดลดลง ด้านรามาฯเผยผลวิจัยตปท.พบคนอาศัยพื้นที่มีฝุ่นสูงเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ-สมองเพิ่ม

เมื่อวันที่ 18 มกราคม  ที่โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล  จัดแถลงข่าว “มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5” โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ช่วงมกราคม – มีนาคม ยังคงเจอสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้เรื่อยๆ เนื่องจากสภาพอากาศปิด สิ่งที่อยากให้ดำเนินการ คือ การเช็กสภาพอากาศว่าแต่ละวันเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ AirVisual ที่ตรวจได้หลายประเทศ ซึ่งจะบอกได้ว่าพื้นที่ที่เราอยู่หรือพื้นที่ที่จะไปนั้นอยู่ในพื้นที่สีอะไร ซึ่งหากเป็นสีส้มหรือสีแดงก็คือมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ผศ.อัมรินทร์ คงทวีเลิศ อาจารย์ภาคอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า การเข้าไปอยู่ในอาคารต้องดูก่อนว่า ควรเป็นอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ และมีระบบในการกรองฝุ่นเล็กๆ ด้วย ถ้าเข้าไปในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศสมัยโบราณ ระบบในการกรองคงไม่สามารถกรอง PM2.5 ได้ และบางครั้งอาจได้รับ PM2.5 ที่มากขึ้นด้วย จากการเปิดปิดประตูหน้าต่างจากอากาศรั่วไหล ต้องดูด้วยว่าเครื่องปรับอากาศมีความสามารถในการกรองหรือไม่ และหากอยู่ในพื้นที่สีแดงตลอดและไม่มีเครื่องปรับอากาศที่จะช่วยกรองได้จะทำอย่างไร ส่วนตัวมองว่า การปิดบ้านตลอดเวลาท่ามกลางอากาศมลพิษภายนอก อาจทำให้อากาศภายในมีมลพิษมากกว่าได้ และจะปล่อยให้อยู่ในบ้าน ยิ่งเพิ่มอันตรายมากขึ้น แนะนำว่า อาจจะดูพื้นที่ใกล้เคียงที่ระดับสีส้มสีเหลือง อาจจะพาเด็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงไปอยู่พื้นที่นั้น หากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ก้ใช้หน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันที่เรามี แต่ไม่ใช่ว่าจะใส่ได้ตลอดเวลา

ผศ.อัมรินทร์ กล่าวว่า ส่วนกรณีมีเครื่องปรับอากาศแล้ว จำเป็นต้องมีเครื่องฟอกอากาศหรือไม่ ซึ่งมีการศึกษาในพื้นที่สีแดง ระหว่างบ้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีเครื่องปรับอากาศ และมีเครื่องปรับอากาศและมีเครื่องปอกอากาศ พบว่า เครื่องปรับอากาศไม่ได้มีการออกแบบในการกำจัดฝุ่นในพื้นที่สีแดง จึงควรเพิ่มเครื่องฟอกอากาศเข้ามาด้วย และต้องดูสเปกของเครื่องด้วยว่า สามารถฟอกกรองอากาศ PM2.5 หรือ PM1 หรือ 0.1 ด้วยหรือไม่

Advertisement

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและ วัณโรคภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 กระทบสุขภาพ 2 ส่วน คือ 1.ผลเฉียบพลัน สามารถเกิดกับทุกคนได้ ขึ้นกับความเข้มข้นของมลพิษ จะมีอาการแสบตา แสบจมูก ระคายคอ มีเสมหะได้ ส่วนคนป่วยโรคเรื้อรัง ปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง จมูกภูมิแพ้ ไซนัส ทำให้มีอาการมากขึ้น 2.ผลระยะยาว มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรามักลืมนึกถึง คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งหมายรวมไปถึงคนอายุ 20 ปี เนื่องจากคนเราเกิดมามีถุงลมจำนวน 25 ล้านใบ พออายุ 10 ขวบจะพัฒนาเพิ่มเป็น 8 เท่า หรือ 300 ล้านใบ และปอดจะขยายตัวเต็มที่ที่อายุ 20 ปี จนเต็มประสิทธิภาพและค่อยลดลงไปตามอายุ ซึ่งฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการระคายเคืองของปอดไม่ต่างจากควันบุหรี่

“ผลที่พบ คือ สมรรถภาพปอดของเด็กที่อยู่ในย่านที่มีฝุ่น PM2.5 จะถดถอยกว่าเด็กในวัยเดียวกันในพื้นที่ที่ไม่มีฝุ่นหรือฝุ่นน้อย ถ้าประชากรเราต้องอยู่ภายใต้ฝุ่นเช่นนี้หลายๆ ปี สมรรถภาพที่อายุ 20 ปีจะเป็นจุดสูงสุดก็จะไม่ได้ และสมรรถภาพจะลดลงเร็วกว่าเด็กที่ไม่สัมผัสฝุ่น ซึ่งในอายุ 40-50 ปี สมรรถภาพปอดอาจถดถอยเหมือนคนเป็นโรคถุงลมโป่งพองในคนสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการระคายเคืองของเซลล์ในปอดตลอดเวลา จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดได้เหมือนกับบุหรี่ในเวลา 10-20 ปีข้างหน้า” รศ.นพ.นิพัฒน์ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การศึกษาในประเทศที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรปบางประเทศ พบว่า ช่วงที่บรรยากาศมีฝุ่น PM2.5 เยอะ มีผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉิน รพ.สูงขึ้น และมีการเสียชีวิตจากโรคทางปอดและหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น เป็นผลระยะสั้นพร้อมกับอัตราการเพิ่มของฝุ่นที่มากขึ้น ส่วนในระยะยาวประชาชนอาศัยในพื้นที่ที่มีฝุ่นเป็นเวลานาน การศึกษาพบว่า มีประชาชนในเมืองนั้นมีโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่า มีอาการเกิดโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น โดยฝุ่นพวกนี้ทำให้เกิดอนุมุลอิสระและทำให้เกิดโรคต่อ หรือฝุ่นไปเหนี่ยวนำทำให้เกิดอักเสบในตำแหน่งที่ฝุ่นเข้าไปอยู่จึงเกิดปัญหาตามมา ที่สำคัญคนเรามักคิดว่าฝุ่นคือผงจากคาร์บอนเล็กๆ ที่ละเอียด จริงๆ มีมากกว่านั้นเชื่อว่ามีสารบางอย่างอยู่ในฝุ่นนั้นด้วย เช่น สารโลหะหนักบางชนิด หรือสารก่อมะเร็ง โดยประชากรตรงนั้นก็มีอัตราการเกิดมะเร็งเพิ่มด้วยโดยเฉพาะมะเร็งปอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image