ไบโอไทย เริ่มมาตรการกดดันรัฐบาล เปิดมุมเพราะอะไรถึงไม่ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชา

เมื่อวันที่  22 มกราคม เพจ BIOTHAI โพสต์ข้อมูลตามมาตรการกดดันรัฐบาลกรณีสิทธิบัตรกัญชา ว่า ไบโอไทยพบว่านอกจากคำขอสิทธิบัตรกัญชาของ GW Pharma และ Otsuka ที่ผ่านการยื่นขอ PCT จะถูกปฏิเสธไม่รับคำขอตั้งแต่ต้นและยกเลิกคำขอในหลายประเทศแล้ว สิทธิบัตรการใช้กัญชาร่วมกับยาต้านโรคจิตที่ยื่นขอโดยตรงมาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ยังถูกตรวจสอบพบว่า “ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น” จนบริษัทได้ตัดสินละทิ้งคำขอที่สหราชอาณาจักรในที่สุดด้วย

คำขอสิทธิบัตรชื่อ “การใช้แคนาบินอยด์ร่วมกับยาต้านโรคจิต” หมายเลขคำขอในประเทศไทย 0801006631 ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 เป็นคำขอสิทธิบัตรเดียวกันกับสิทธิบัตรชื่อ “Use of cannabinoids in combination with an antiphycotic medicament” ซึ่งยื่นคำขอที่สหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 ปีเดียวกัน

โดยในสหราชอาณาจักรมีการประกาศคำขอในวันที่ 8 กรกฎาคม 2552 แต่หลังจากมีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสหราชอาณาจักรพบว่า คำขอสิทธิบัตรดังกล่าวไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ขาดคุณสมบัติพื้นฐานที่จะได้รับการคุ้มครอง โดยได้แจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวไปยัง GW Pharma เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คำขอสิทธิบัตรกัญชาร่วมกับยาต้านโรคจิตดังกล่าวจึงถูกยกคำขอในปี 2553 นั้นเอง

น่าแปลกใจที่คำขอสิทธิบัตรซึ่งถูกละทิ้งคำขอในปี 2553 ในประเทศอังกฤษ กลับได้รับการประกาศโฆษณาในประเทศไทย ในวันที่ 22 มกราคม 2559 หลังจากนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะนั้น แถลงว่าจะแก้ปัญหา “Backlog” หรือ คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรที่คั่งค้างของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงปลายปี 2558

Advertisement

หลังประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรดังกล่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เดินทางไปญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2559 โดยได้พบปะกับกลุ่มบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น 5-6 บริษัทรวมทั้ง Otzuka ด้วย โดยจากการตรวจสอบพบว่า นอกจากสิทธิบัตรกัญชาร่วมกับยารักษาโรคจิตข้างต้นจะได้รับการประกาศโฆษณาแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรยาจากกัญชา ของ GW/Otsuka อีก 2 คำขอ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ด้วย ได้แก่คำขอสิทธิบัตรหมายเลข 1101003758 “การใช้สารแคนาบินอยด์หรือสารผสมรักษาโรคลมบ้าหมู” และคำขอเลขที่ 1301003751 “การใช้ CBD ร่วมกับยาต้านโรคลมชัก”  จึงถูกตั้งคำถามว่า การให้สิทธิบัตรนี้เกี่ยวโยงกับการช่วงระหว่างที่คณะของนายสมคิดและนายสุวิทย์อยู่ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นหรือไม่

ถึงตอนนี้ เราคงเข้าใจแล้วว่า ทำไมกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ดำเนินการใดๆเพื่อยืนยันว่าจะเพิกถอนสิทธิบัตรกัญชาที่ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการคุ้มครองดังกล่าว ทั้งๆที่ขัดมาตรามาตรา 9(5) เรื่องความสงบเรียบร้อย ขัดมาตรา 9(1) เป็นสารสกัดจากพืช ขัดมาตรา 9(4) การใช้บำบัดรักษาโรค และไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 5 เรื่องการต้องมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image