หมอเอกชน ลั่นทำตามมติครม. เคาะค่ารักษาเป็นสินค้าควบคุม ภาคประชาสังคมพร้อมใจขอบคุณ

“หมอเอกชน” ลั่นทำตามมติครม. เคาะค่ารักษาเป็นสินค้าควบคุม แต่อย่ากดดันจนไม่เกิดการพัฒนา  ภาคประชาชนขอบคุณมติ ครม.

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมรพ.เอกชน กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวในฐานะของผู้ประกอบการรพ.เอกชนมองว่า มติครม.ให้ค่ารักษาเป็นสินค้าควบคุมเช่นนี้เราก็ต้องทำตาม จากนี้ก็อยู่ที่การพิจารณาวางหลักเกณฑ์ของอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น ซึ่งคงไม่มีความสามารถไปชี้นำได้หรือจำเป็นต้องร้องขออะไร ก็คงต้องทำงานต่อ แต่จะแก้ไขอย่างไรก็อย่ากระทบจนกระทั่ง ความมีประสิทธิภาพของรพ.เอกชนกลายเป็นความด้อยลงไป เพียงเพราะไปแก้ปัญหาของคน 2-5% แล้วกระทบคนส่วนมาก 95% เพราะอย่างที่บอกว่าคนกว่า 95% มารพ.เอกชนซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้ไม่ได้สอบถามความพึงพอใจ แต่สถิติก็ฟ้องว่าหากไม่มีคุณภาพ ไม่คุ้มค่าเขาไม่มาซ้ำเพราะไม่ใช่ว่าคนไม่มีทางเลือก

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการกำกับค่ารักษาแล้วรพ.เอกชนจะลดคุณภาพลงด้วยเพื่อเป็นการประหยัดอย่างนั้นหรือไม่ นพ.เอื้อชาติ กล่าวว่า รพ.เอกชนไม่ได้จะลดมาตรฐานลง แต่จะทำอย่างไรในเมื่อไม่มีเงิน เพราะการรักษาล้วนมีต้นทุนทั้งค่าอาคารสถานที่ บุคลากร เทคโนโลยี อย่างเรื่องยา เราไม่ได้เป็นคนขายยา แต่เนื่องจากรพ.ต่างจากร้านขายยาทั่วไป เราต้องมียาทุกตัวที่แพทย์ต้องการใช้ จึงต้องต้นทุนการเก็บรักษา ก่อนใช้ต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรคก่อนสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุน อนุกรรมการฯ ก็ต้องดูตามจริงด้วย ทั้งนี้ หากไม่เกิดการพัฒนาตนก็ห่วงว่าผลสุดท้ายคนไทยเองจะลำบากเพราะไม่มีรพ.ดีๆ แล้วต้องบินไปรักษาที่รพ.ต่างประเทศเหมือนในอดีต ทั้งที่วันนี้ไทยถือว่าเป็นผู้นำ

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.) กล่าวว่า  ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค ชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำเรื่องนี้ ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ พร้อมเสนอตัวแทนผู้บริโภคและนักวิชาการ ขอร้องรัฐมนตรีอย่าพึ่งตัดสินใจว่าจะไม่กำกับค่ารักษาพยาบาลราคาสูงสุดแบบสิงคโปร์  ทั้งนี้ ขอเสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะสามารถเดินหน้าได้ทันทีในการเสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาล คาดหวังว่า การกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง(Sticker Price) สำหรับการกำกับค่ายาที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต ซึ่งไม่สามารถควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาลได้ จนเป็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในปัจจุบัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image