“ปิยะสกล” ลั่นอย่ากังวลคุมค่ารักษา จะไปปูดส่วนอื่น มีระบบตรวจสอบได้

“ปิยะสกล” ลั่นคณะทำงานพิจารณาค่ารักษามาจากทุกภาคส่วน เน้นกำกับตามความเหมาะสม มองแง่ดีเพื่อความโปร่งใส รพ.เอกชน ด้านผู้บริโภคย้ำกำกับค่ารักษาต้องไม่ใช่แค่แจ้งราคาเท่านั้น ส่วนความพอใจรพ.เอกชนมากหรือน้อย ขอดูข้อมูล แต่แน่ๆ เรื่องร้องเรียนค่ารักษารพ.เอกชนอันดับต้นๆ

เมื่อวันที่ 23 มกราคม  ที่กระทรวงสาธารณสุข  นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีครม.มีมติเห็นชอบให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ว่า คิดว่าโดยรวมแล้วส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่กำกับตามความเหมาะสม ไม่ใช่คุมตามความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งคณะทำงานที่ตั้งมาพิจารณาเรื่องนี้ก็เหมาะสมเพราะมีทั้งกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนรพ.เอกชน และผู้แทนฝั่งผู้บริโภค เป็นต้น ทุกคนก็มาคุยกัน ผลกระทบต้องเกิดในทางที่ดีคือผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองที่ดี รพ.เอกชนก็ได้ในแง่ของความโปร่งใส ให้คนศรัทธา

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลว่า การควบคุมค่ารักษาพยาบาลจะส่งผลให้ไปเพิ่มค่าอื่นๆ หรือไม่  นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้ ตรวจสอบได้ อย่าไปกลัว หากมีปัญหา  รู้ก็ต้องเข้าไปคุม แต่ตนมองว่ารพ.เอกชนเองเป็นสถานประกอบการที่ต่างจากสถานประกอบการแบบอื่นๆ ที่มุ่งกำไร

เมื่อถามต่อว่าการกำกับราคาจะกระทบกับการเงิน รพ.ไม่มีเงินลงทุนต่อ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ถ้าบอกว่ากระทบก็ว่ามา คณะทำงานฯ ต้องพิจารณาร่วมกันอยู่แล้ว ว่าสมควรแค่ไหน ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับปัญหาหุ้นตกในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

Advertisement

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบสัดส่วนคณะทำงานกระทรวงพาณิชย์จะตั้งขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดเรื่องการกำกับค่ารักษาพยาบาล แต่อยากเสนอสัดส่วนของนักวิชาการ ตัวแทนผู้ป่วย และตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายผู้บริโภคอยากเสนอว่าการกำกับค่ารักษาต้องไม่ใช่แค่การแจ้งราคาเพราะวิธีนี้ทำมาเป็น 10 ปี แต่ก็เห็นแล้วว่าค่ายารพ.เอกชนสูงกว่าของรัฐ 70-100 เท่า สิ่งที่อยากเห็นคือการกำกับโดยอ้างอิงจากฐานค่ายา ค่ารักษาในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทางรพ.เอกชนเองก็รับได้ และที่มีการวิจัยล่าสุดก็พบว่ามีกำไรอยู่ 60% ไม่ใช่ 20% อย่างที่รพ.เอกชนระบุ หรือจะใช้วิธีคิดแบบกลุ่มโรคเหมือนที่สิงคโปร์ทำก็ได้แล้วมาดูว่าจะบวกเพิ่มไปเท่าไหร่ และอีกอย่างที่หวังคือคนที่ทำประกันชีวิตเมื่อเข้ารพ.แล้วไม่ควรต้องจ่ายค่าห้องเพิ่มอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลว่าคนที่เข้ารพ.เอกชนซ้ำ มีมากถึง 95% สะท้อนความพอใจในคุณภาพ และราคา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาพอใจเพราะอาจจะไปแล้วพบว่าราคาไม่เหมาะสมกับตัวเอง การคุมราคาตรงนี้อาจจะแก้ปัญหาให้คนส่วนน้อยเท่านั้น น.ส.สารี กล่าวว่า ต้องไปดูข้อมูล เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งที่เข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุข คือเรื่องค่ารักษาแพง แต่กระทรวงแก้ไม่ได้ และเป็นเรื่องร้องเรียนอันดับ 2 ของมูลนิธิฯ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนส่วนน้อย ไม่ได้กระทบแค่คนที่เดินเข้ารพ.เอกชน แต่มีผลกระทบกับระบบสุขภาพของประเทศเช่นกัน เช่น รพ.เอกชน ออกจากการเป็นสถานพยาบาลในระบบบัตรทองเพราะอ้างว่าได้เงินน้อย ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเพิ่มเงินให้ ตรงนี้ก็กระทบงบประมาณกองทุนแล้ว นอกจากนี้ ยังทำให้แพทย์สมองไหลไปอยู่รพ.เอกชน ทำให้เกิดปัญหากำลังคนในรพ.รัฐไม่เพียงพอ เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาจะเห็นว่าค่ารักษาแพงไม่ใช่แค่ผลกระทบกับเงินในกระเป๋าเท่านั้น แต่มีผลกระทบกับระบบสุขภาพของประเทศ.

นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมรพ.เอกชน กล่าวว่า อย่างที่เคยบอกมาตลอดว่าต้นทุนของแต่ละโรงพยาบาลไม่เท่ากัน อย่างค่าที่ดินในการก่อตั้งก็มีราคาต่างกัน ต้นทุนจะเท่ากันได้อย่างไร และเมื่อมีการปันผลกำไรไม่ได้มาก จึงต้องมีการบวกค่าบริการ ต้นทุนอื่นๆลงไปในค่ายาด้วย ซึ่งการที่ควบคุมแล้วจะทำให้ราคาถูกลงหรือไม่นั้น ไม่มีทางถูกลง ซึ่งค่าต่างๆที่มีการบวกเพิ่มมีอยู่ในบัญชี รายรับ รายจ่าย แต่รวมอยู่ในบัญชีรายรับค่ายา  ทั้งนี้ ครม.มีมติให้ทำอะไรก็พร้อมจะทำ แต่ต้องมีความโปร่งใส คณะทำงานก็ต้องมาคุยกันว่า บอกว่าค่ายาแพงจะให้ไปเพิ่มในหมวดไหนได้บ้าง ค่ายาก็จะถูกลง แต่ใบเสร็จก็ราคาเท่าเดิม และในกรณีนี้ ต้องถามบริษัทประกันว่า จะยินดีจ่ายส่วนที่เพิ่มเข้ามาหรือไม่ ถ้าไม่ให้บวกเพิ่มโรงพยาบาลเอกชนก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องปิดตัวไป ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนถือครองเตียงผู้ป่วยอยู่ 30-40 % ของโรงพยาบาลรัฐ หากปิดตัวไปรัฐบาลก็จัดหาไม่ทัน ก็จะกระทบกับทางเลือกของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image