‘ไบโอไทย’ แฉหลักฐานเหตุกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ยกคำขอ ‘สิทธิบัตรกัญชา’

ความคืบหน้ากรณีภาคประชาชนเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ยกคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากกัญชา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้น

เมื่อวันที่ 24 มกราคม มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ได้โพสต์ข้อความระบุรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องกับการเร่งรัดสิทธิบัตร และการเดินทางไปพบปะกับบริษัทญี่ปุ่น 5 ราย ซึ่งรวมถึงบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอลส์ (Otsuka Pharmaceutucals) พร้อมระบุว่า หลักฐานชัดเจนขนาดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คงต้องออกมาแถลงต่อประชาชน

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้พยายามเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยกคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่เป็นผล ทั้งๆ ที่บางคำขอมีการค้นพบว่าเมื่อไปขอสิทธิบัตรในต่างประเทศก็ถูกยกคำขอ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

“ล่าสุดภาคประชาชนได้ค้นพบข้อมูลที่สนับสนุนว่า เหตุใดกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงไม่ดำเนินการยกคำขอดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพียงหน่วยงานเดียว แต่เกี่ยวพันไปถึงทีมเศรษฐกิจ และรัฐบาลด้วย โดยพบว่าระหว่างเดินพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย ในงาน Nikkei Forum 22nd International Conference on the Future of Asia 2016 ซึ่งมีนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 620 คน หรือมากกว่า 300 บริษัท ซึ่งหลังจากกลับมา และได้มีการรายงานผลต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การจดสิทธิบัตรด้วย” นายวิฑูรย์ กล่าวและว่า หลังจากนั้นไม่นาน ก็พบว่ามีการประกาศคำขออีก 3 ฉบับ

Advertisement

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงเวลาเดียวกัน มีการออกข่าวว่า นายสมคิดจะเป็นหัวหน้าคณะของรัฐบาลไทยนำหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยเดินทางไปชักจูงให้ลงทุนในประเทศไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มบริษัทที่หารือนั้นเน้นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ กลุ่มอาหารที่มีนวัตกรรม (Food Innovation) กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ บริษัทผู้ผลิตอาหาร เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาที่ใช้วัตถุดิบขั้นสูง เป็นต้น

“จากหลักฐานข้างต้นนี้ ภาคประชาชนจึงไม่แปลกใจว่า เพราะเหตุใดกรมทรัยพ์สินทางปัญญาจึงนิ่งเฉยกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ดังนั้น ภาคประชาชนจึงเรียกร้องเพิ่มเติมให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ขณะเดียวกันจะรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ออกไปให้มากที่สุด” นายวิฑูรย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image