กทม.เตือนผู้ป่วยหวัดใหญ่ ดมฝุ่น PM2.5 เสี่ยงตาย! 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดูแลด้านอนามัยและสาธารณสุข เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ตระหนักและห่วงใยสุขภาพของประชาชนในฤดูหนาว ซึ่งมักก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่และมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยช่วงนี้พื้นที่ของกรุงเทพมหานครเริ่มมีสภาพอากาศเย็นและมีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวัง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1-31 ธันวาคม 2561 พบมีผู้ป่วยสะสม 43,677 รายและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ขณะที่ทั้งประเทศมีผู้ป่วย 181,413 รายและมีผู้เสียชีวิต 31 ราย เมื่อพิจารณาอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ของทั้งประเทศ พบ กทม.มีอัตราป่วยสูงสุด คือ มีอัตราป่วยสะสม 772.52 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ จังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราป่วยสะสม 616.71 ต่อประชากรแสนคน และจังหวัดระยอง มีอัตราป่วยสะสม 542.86 ต่อประชากรแสนคน

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า พบว่าโรคไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดในช่วงนี้จะเป็นสายพันธ์ุ A (H1N1) 2009 และ B (Victoria) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยและมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยและแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว จากการไอ จาม การหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ที่มีเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่เข้าไป

“โดยเฉพาะหากอยู่ในที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก อาจส่งเสริมให้อาการของของไข้หวัดใหญ่เป็นมากยิ่งขึ้นในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอด หัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อการการถูกกระตุ้นด้วยฝุ่นละออง PM2.5 และสามารถรับเชื้อได้ง่ายขึ้น โรคนี้มักมีอาการรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดาและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่าย ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ แนะนำให้กลุ่มควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุ 2 เดือน-2 ปี ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคสมองพิการ โรคเบาหวานและผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป” นายทวีศักดิ์กล่าว

นายทวีศักดิ์ยังแนะนำถึงวิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ดังนี้ 1.ปิดปาก จมูก เวลาไอจาม ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยหรือออกไปที่โล่งแจ้ง 2.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไอ จาม หรือมีไข้ตัวร้อน 3.หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาด 4.เมื่อป่วยควรหยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้หายป่วยเร็ว และไม่แพร่เชื้อให้กับคนอื่น ​5.กลุ่มเสี่ยงควรรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปีก่อนการระบาดของโรค และ 6.ทำความสะอาดของที่ใช้ร่วมกันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำผงซักฟอก นอกจากนี้ กทม.ยังสนับสนุนความรู้และหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเสี่ยงตามศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ทั้ง 68 แห่ง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image