จัด 2 รพ. ‘ราชวิถี-เลิดสิน’ รองรับผู้ประกันตน หลังปิด รพ.เดชาไร้มาตรฐาน

กระทรวงแรงงานเข้าดูแลพนง.หลังปิดรพ.เดชา พญาไท

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการสั่งปิดโรงพยาบาล(รพ.)เดชา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา แขวงพญาไท เขตราชเทวี ว่า ในวันที่ 12 พฤษภาคม ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งปิด รพ.เดชา แล้วตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เป็นระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่รับทราบคำสั่ง เนื่องจากรพ.เดชา ดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คือ 1.ไม่จัดให้มีบุคลากรตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะบุคลากรวิชาชีพ 3 สาขาหลักที่จำเป็นในการดำเนินการบริการของโรงพยาบาล ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร และ 2.มีการปิดให้บริการแผนกผู้ป่วยฉุกเฉินหรือ อีอาร์ (ER) ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการให้บริการของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตราย ก่อความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรง ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการรับการรักษาพยาบาล

“ขอยืนยันประชาชนทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มั่นใจในมาตรการดำเนินการของ สบส.ในการดูแลสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยให้ได้รับการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน และไม่มีการทอดทิ้งประชาชนที่ใช้บริการอย่างแน่นอน โดยกรณีของ รพ.เดชา ซึ่งมีผู้ประกันตนประมาณ 40,000 คน และมีผู้ป่วยพักรักษาตัวประมาณ 7 คน สบส.ได้ประสานสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ขณะนี้ได้จัดสถานพยาบาลในเขตกทม.รองรับไว้ 2 แห่ง คือที่ รพ.ราชวิถี และรพ.เลิดสิน เพื่อรองรับผู้ประกันตน โดยสามารถติดต่อแจ้งเลือกใช้สิทธิได้ที่สำนักงานประกันสังคม” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ทีมผู้บริหารใหม่ติดต่อมาว่า ขอเวลาปรับปรุงและจะมายื่นเรื่องเพื่อขอเปิด รพ.ตามมาตรฐานอีกครั้ง

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส.กล่าวว่า หลังจากที่มีคำสั่งปิดรพ.เดชา เมื่อ รพ.เดชาได้รับคำสั่งแล้ว หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมายได้ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ทราบคำสั่ง เพื่อให้ความเป็นธรรม และหากรพ.ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสถานพยาบาลให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในช่วงระยะเวลาที่ปิดสถานพยาบาลแล้ว สามารถแจ้งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นผู้อนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล เพื่อดำเนินการตรวจสอบมาตรฐาน และพิจารณาเพิกถอนคำสั่ง ให้สามารถดำเนินกิจการสถานพยาบาลได้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ที่โรงพยาบาลเดชา ยังคงให้บริการผู้ป่วยตามปกติ ซึ่งยังคงมีผู้ป่วยเดินทางเข้ารับบริการทางการรักษาฟอกไต รวมถึงการตรวจแบบทั่วไป ซึ่งจากการสอบถามผู้ที่มารับบริการระบุว่าทราบถึงปัญหาของโรงพยาบาลในการบริหารว่ามีการค้างเงินเดือน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และพนักงานทั่วไป ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขมีการสั่งปิดชั่วคราวนั้นได้มีการหารือกันในครอบครัวรวมถึงหน่วยงานต้นสังกัดในการส่งต่อเพื่อรับบริการโรงพยาบาลอื่นแล้ว

Advertisement

น.ส.วารุณี เจริญพงศ์นรา ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ศรีอยุธ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารกิจการ รพ.เดชา กล่าวว่า เรื่องปัญหาภายในโรงพยาบาลนั้นมียืดเยื้อมานานกว่า 4 เดือนแล้วที่ทางบริษัทต้นสังกัดได้ค้างชำระเงินเดือนกับพนักงานในฝ่ายบุคคล กว่า 180 คน รวม 12,042,000 บาท ทั้งนี้เมื่อทวงถามทางบริษัทฯกับยกให้เป็นหน้าที่ของทางประกันสังคมเป็นผู้จ่ายเงินแทนเนื่องจากเงินประกันสังคมของบริษัท รวม 13 ล้านบาท ถูกนำไปจ่ายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรณีการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งนี้เมื่อวานที่ผ่านมาทางพนักงานกว่า 80 คนได้เข้าพบกับตัวแทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อทวงถามและขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้พร้อมกับเดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อร้องเรียน

น.ส.วารุณี กล่าวอีกว่า ปัญหาการค้างเงินเดือนนั้นมีมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมตั้งแต่ผู้บริหารชุดเก่าคือนายวีระนาถ วีระไวทยะ ล้มป่วยลงจนกระทั่งมีการสรรหาผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทน คือจ่าสิบเอกชาญณรงค์ ประเสริฐศรี เข้ามาเป็นผู้บริหารและได้เกิดปัญหาการค้างเงินเดือนต่อเนื่อง

น.ส.กมลพร พินิจ ผู้ช่วยฝ่ายโภชนาการ กล่าวว่า ส่วนตัวถูกค้างค่าจ้างรวมเกือบ 50,000 บาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน แต่ยังคงมาปฏิบัติงานเนื่องจากฝ่ายอาหารหรือโภชนาการคือเป็นหัวใจสำคัญของโรงพยาบาลที่ยังคงต้องให้บริการต่อเนื่อง ทั้งอาหารแบบจาน และสายยาง แต่ละวันต้องมีการปรุงอาหารไม่น้อยกว่า 30 ที่ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องของการค้างเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ด้วย โดยโรงพยาบาลมีบุคลากรทางการแพทย์ใน 5 สาขาหลักกุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์/สูตินรีเวช/รังสีวิทยา/วิสัญญี และพยาบาลจำนวนทั้งสิ้น 33 คน ซึ่งในบุคลากรทางการแพทย์หนึ่งคนทราบว่ามีค่าเงินเดือนรวมสูงถึง 1,500,000 บาท

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงสร้างการบริหารของโรงพยาบาลเดชาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2549 หลังจาก นพ.เดชา สุขารมณ์ ได้ขายกิจการให้กับบริษัท ศรีอยุธ จำกัด เนื่องจากต้องการทำงานทางการเมือง โดยมีนายวีระนาถ วีระไวทยะ เข้ามาบริหาร และเมื่อช่วงปลายปี 2558 นายวีระนาถได้ล้มป่วยลงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 จึงมีการเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่และเกิดปัญหาดังกล่าว

พนง.รพ.เดชา ประสบปัญหาเงินเดือน
พนง.รพ.เดชา ประสบปัญหาเงินเดือน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image