นักวิชาการ ชี้ ฝุ่น PM2.5 ในกทม. ไม่ได้มาจากไอเสียรถยนต์เท่านั้น เผยยังพบพบสารโลหะหนักด้วย

แฟ้มภาพ

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า สาเหตุที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะของภูมิประเทศด้วย อย่างภาคเหนือพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ เมื่อมีความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมา อากาศจึงถูกกักไว้ ดังนั้น หากเอาโรงงานที่ก่อมลพิษสูงไปตั้งไว้แถบนั้น ปัญหาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่หากเปรียบกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็นพื้นที่ราบ อยู่ใกล้อ่าวไทย ได้รับลมและฝนบ่อยครั้ง แม้จะมีปริมาณรถมากกว่าเชียงใหม่หลายเท่า มลพิษที่เกิดขึ้นจึงไม่สะสม เพียงแต่ช่วงนี้ความกดอากาศเข้าปกคลุม ทำให้อากาศนิ่ง ฝุ่นและมลพิษกระจายตัวออกยาก จึงเกิดการะสะสมจนค่าสูง

ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ใน กทม. นอกจากต้นกำเนิดหลักอย่างไอเสียของยานพาหนะ ยังอาจถูกพัดมาจากที่อื่นด้วย โดยเฉพาะการพักข้ามพรมแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากการอาศัยแบบจำลอง Back Trajectory Analysis เพื่อดูว่าแหล่งกำเนิดของมวลอากาศของ กทม.ช่วงเกิดวิกฤตหมอกควันมาจากแหล่งไหนบ้าง ในช่วงวันที่ 11-15 ม.ค. 2562 สิ่งที่พบ คือ ในระดับความสูง 500 1,000 และ 1,500 เมตรจากพื้นดิน มวลอากาศนั้นมาจากทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของ กทม.เหมือนกันทั้งหมด คือ มาจากทางลาวและกัมพูชา ซึ่งช่วงนั้นเมื่อดูจากข้อมูลดาวเทียมจิสด้า (GISTDA) จะพบว่า มีจุดฮอตสปอตจำนวนมากเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเผาทางการเกษตรในที่โล่งจากประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อถามว่า เมื่อมีมวลอากาศเย็นกดทับไว้ ฝุ่นที่เกิดขึ้นน่าจะถูกกักไว้ในพื้นที่ การถูกพัดข้ามแดนเกิดขึ้นได้อย่างไร ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า ตรงนี้อธิบายได้ว่า บรรยากาศของโลกนั้นมีหลายเลยเยอร์หรือหลายชั้น อยากให้มองเหมือนขนมชั้น ซึ่งความกดอากาศสูงที่กดทับไว้จนอากาศนิ่งนั้น จะเป็นอากาศในระดับพื้นผิวที่นิ่ง แต่เหนือกว่านั้นขึ้นไปอาจไม่นิ่งเหมือนที่เราอยู่ จึงต้องไปดูที่ระดับ 500 1,000 และ 1,500 เมตร ซึ่งก็เห็นชัดว่ามวลอากาศไหลผ่านมาจากทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการเผาในที่โล่งทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ลอยตัวขึ้น ซึ่งอากาศยิ่งเย็น ควันก็ยิ่งลอยสูงขึ้น ประกอบกับฝุ่น PM2.5 ซึ่งขึ้นชื่อว่าฝุ่นก็จะย่อมมีน้ำหนัก ต้องถูกแรงโน้มแถ่วงตรึงไว้ในไม่ช้า เมื่อถูกกระแสลมพัดมา จึงลอยมาปกบริเวณ กทม.ได้ ดังนั้น การขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด ต้องทำในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย

ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขณะนี้ ไม่ได้มีอันตรายเพียงแค่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของสารโลหะหนักและจุลินทรีย์ที่ติดมากับฝุ่นด้วย โดยฝุ่นขนาดใหญ่พื้นที่ผิวสัมผัสจะน้อยกว่า แต่ยิ่งฝุ่นขนาดเล็กพื้นที่ผิวสัมผัสโลหะหนักและจุลินทรีย์ก็ยิ่งมาก ประเด็น คือ ฝุ่น PM2.5 เล็กมากจนสามารถเข้าไปในส่วนลึกถึงก้านหรือขั้วปอดได้ ก็จะนำสารโลหะหนักและจุลินทรีย์ก่อโรคเข้าไปในร่างกายด้วย เรียกว่า ตอนนี้เรารู้แค่ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 แต่ไม่รู้ลยว่าสิ่งที่ติดมากับฝุ่น PM2.5 นั้นมีอะไรและมากน้อยแค่ไหน

Advertisement

“สิ่งนี้คือความน่ากลัวของอากาศ เพราะเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราสูดอากาศหายใจเข้าไปนั้น มีอะไรอยู่บ้าง ที่สำคัญทุกวันนี้ค่าในการควบคุมมลพิษในอากาศมีอยู่ไม่กี่ตัวเท่านั้น เช่น ฝุ่นขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน หรือ TSP ฝุ่น PM10 ฝุ่น PM2.5 โอโซน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ขณะที่สารโลหะหนักมีเพียงตะกั่วเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริง ในอากาศยังมีสารโลหะหนักอื่นๆ อีกมาก รวมไปถึงสารก่อการกลายพันธุ์ และสารก่อมะเร็ง แต่ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานเอาไว้เลย จึงต้องมีการเฝ้าระวังประเด็นเหล่านี้ด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้” ศ.ดร.ศิวัช กล่าว

ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า จากการทำวิจัยโดยดักจับฝุ่นจากสถานีตรวจวัดคุรภาพอากศ 7 จุดหลักของกรมควบคุมมลพิษ เป้นเวลามากกว่า 6 เดือน แล้วนำไปวิเคราะห์สารโลหะหนัก พบว่า มีสารโลหะหนักหลายตัว แต่ส่วนใหญ่ไม่เกินค่ามาตรฐานสากล แม้กระทั่งตะกั่วก็ไม่เกิน เพราะมีการปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันที่ไร้สารตะกั่ว ซึ่งช่วยลดได้จริง แต่ที่เกินมาตรฐานสากล คือ สารหนูและแคดเมียม ส่วนการวิจัยเมื่อปี 2010-2011 โดยเก็บฝุ่นจากดาดฟ้าคระวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี พบสารโลหะหนัก 51 ชนิด ส่วนใหญ่ไม่เกินมาตรฐาน แต่ที่เกินคือ แคดเมียม และทังสเตน

“สารโลหะหนักเกิดขึ้นหลักๆ จาก 3 แหล่ง คือ 1.โรงงานอุตสาหกรรม 2.ยานพาหนะ โดยเฉพาะจานเบรก ซึ่งพบว่าการขับแล้วแตะเบรกบ่อยๆ จะยิ่งปล่อยโลหะหนักออกมามาก คือ ทังสเตน ซึ่งเป็นพิษ ทำให้ค่าของทังสเตนพุ่งสูง และ 3.เตาเผาศพ เนื่องจากในร่างกายหลายคนมีวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ฟันเทียมมีทองคำ อมัลกัมที่ใช้อุดฟันทำมาจากปรอท ไทเทเนียมที่ใช้ทำกระดูกทดแทนต่างๆ เป็นต้น เมื่อเผาศพแล้วโลหะหนักต่างๆ เหล่านี้ก็ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งระบบดักจับนั้นไม่มีอะไรที่กรองได้ 100% นอกจากนี้ ยังเกิดจากการเผาขยะ เผาชีวมวลในที่โล่งแจ้ง ที่มีการปล่อยโลหะหนักออกมาได้ แม้จะปริมาณน้อย แต่เผาเป็นวงกว้างก็มีปริมาณมากขึ้นได้” ศ.ดร.ศิวัช กล่าวและว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมควบคุมมลพิษควรจะออกค่ามาตรฐานสารโลหะหนักตัวอื่นๆ ด้วย และควรปรับค่ามาตรฐานมลพิษให้เหมือนกับสากล ไม่ใช่ค่ามาตรฐานของไทยต่ำกว่า เพราะเป็นประเทศยังไม่พัฒนา ซึ่งเท่ากับเราดูถูกประเทศตนเอง แปลว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยไม่เท่ากับคนอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image