‘ปานเทพ’ ลั่นม.44 ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาไม่จีรัง สงสัยออกคำสั่งช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต  กล่าวถึงกรณีการออกคำสั่งมาตรา 44 ให้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชา ว่า การออกคำสั่งดังกล่าวของ คสช.ไม่ใช่การไปยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชา แต่เป็นการให้เหตุผลแก่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาได้ ซึ่งเหตุผลที่ให้ไว้ตามคำสั่ง ม.44 คือ เรื่องของมาตรา 9(5) ของพ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 คือ การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน เนื่องจากกัญชายังคงเป็นยาเสพติด ซึ่งถือเป็นเหตุผลชั่วคราว เพราะหาก พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอ และยื่นทูลเกล้าฯ ไปอย่างเงียบๆ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ออกมาเมื่อไร เหตุผลดังกล่าวก็จะใช้ไม่ได้อีก

“คสช.ควรอ้างเหตุผลอื่น เช่น ตามมาตรา 9(1) เรื่องสารสกัดจากพืช หรือมาตรา 9(4) ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา แต่กลับไม่อ้างเหตุผลเหล่านี้ใรคำสั่ง ม.44 เพราะเป็นเหตุผลถาวร และมีความคิดที่จะให้บริษัทต่างชาติกลับมาจดสิทธิบัตรได้อีกใช่หรือไม่ เพราะหากดูตามคำสั่งแล้วจะมีเวลาให้อุทธรณ์อีก 90 วัน ถ้ามี พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ออกมา สิทธิบัตรก็อาจไม่ถูกยกเลิก เพราะอุทธรณ์ก่อน ก็ไม่ต้องเริ่มต้นยื่นคำขอใหม่ หรือแม้จะยกเลิกก็มีสิทธิที่จะกลับมายื่นคำขอใหม่ได้ ที่สำคัญกว่าจะรู้ผลอุทธรณ์ก็เลยช่วงเวลาเลือกตั้งไปแล้ว การทำแบบนี้เป็นการทำให้ประชาชนเฮในระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้งก่อนหรือไม่” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ กล่าวว่า ที่กังวล คือ แม้จะมีการให้เหตุผลในการยกเลิก แต่อำนาจในการยกเลิกยังเป็นของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะยกเลิกหรือไม่ และยกเลิกเมื่อไร แต่ในเมื่อเป็นอธิบดีคนเดิมที่ไม่เคยยอมยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาทั้ง 7 ฉบับ ของ GW/Otsuka ก็น่าห่วงว่าสุดท้ายแล้วจะใช้อำนาจยกเลิกหรือไม่ และหากมี พ.ร.บ. ยาเสพติดฯ ออกมา ก็ยิ่งใช้ มาตรา 9(5) ไม่ได้อีกต่อไป แปลว่ากลายเป็นดีใจเก้อหรือไม่ ซึ่งสิทธิบัตรทั้ง 7 คำขอนั้น ครอบคลุมการรักษาทั้งลมชัก ลมบ้าหมู จิตประสาท โรคจิต โรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งสมอง เป็นต้น หากใครศึกษาก็มีสิทธิถูกฟ้องร้องได้ รวมถึงประชาชนอาจต้องใช้ยาที่มีสิทธิบัตรราคาสูง

นายปานเทพ กล่าวว่า วิธีการแก้ไขเรื่องนี้ คือ 1.รัฐบาลต้องอาศัยคำสั่ง คสช. ควรนิยามเพิ่มเติม จากมาตรา 9(5) ให้ครอบคลุมไปถึงมาตรา 9(1) และ 9(4) ให้ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่เอามาจดซ้ำ  2.ถ้าไม่อาศัยคำสั่ง คสช. ก็ต้องมีอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ยืนยันยกเลิกสิทธิบัตรเหล่านี้ ไม่ว่าจะอาศัยมาตราใดในการยกเลิกก็ตาม ถ้าอธิบดีคนเดิมไม่ทำ ก็ต้องเปลี่ยนคน  และ 3.อาจเพิ่มบทเฉพาะกาลห้ามจดสิทธิบัตร เพราะเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศไทยและต่างชาติ เนื่องจากไทยไม่เคยใช้กัญชาทางการแพทย์ และวิจัยในมนุษย์มาก่อน โดยอาจออกคำนิยามว่า กัญชายังคงอยู่ใน มาตรา 9(5) ไปก่อนเป็นเวลา 5 ปี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image