ภาคปชช.ระดมสมอง 1 ก.พ.จับตากรมทรัพย์สินทางปัญญา ‘สิทธิบัตรกัญชา’ ปัญหายังไม่จบ!

กรมทรัพย์สินทางปัญญา-เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่ง ม.44 จัดการเรื่องสิทธิบัตรกัญชา ขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมแถลงเรื่องดังกล่าวสัปดาห์หน้า ว่า หลังจากทางภาคประชาสังคมได้เปิดเผยปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชาออกมา เพื่อสกัดกั้นการให้สิทธิบัตรและจะส่งผลกระทบต่อนักวิจัยไทย คนไทย ผู้ป่วยไทย สุดท้ายก็ต้องใช้ ม.44 อาศัยอำนาจ คสช. ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะโดยอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถทำได้เลย หากคำขอสิทธิบัตรนั้นๆ ขัดกับ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ก็ไม่ทำ  จนมีความพยายามที่จะใช้ม. 44 ในการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ เสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วาระ 3 แต่เสียงติงว่าจะถูกฟ้องร้องภายหลัง จึงเป็นที่มาของการใช้คำสั่ง ม.44 มาแก้ปัญหาขั้นตอนการปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแทน

“เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องจับตาว่า ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทางภาคประชาสังคมจะมีการประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งการทำข้อเสนอให้มีการปฏิรูปกรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากแม้จะมีคำสั่งจาก ม.44 ให้สามารถยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาจากต่างชาติที่ขัดกับ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522  แต่ถ้าไม่ปฏิรูปขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตรอีก  หากมีการยื่นขอเข้ามาใหม่ ก็ต้องมาเจอปัญหารูปแบบเดิม เพราะจริงๆ เรื่องนี้ผิดที่ขั้นตอนการดำเนินงาน แต่ม.44 มาย้ำว่าสามารถยกเลิกคำขอเหล่านั้นได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมก็ต้องปรับปรุงและจัดระบบใหม่ และจะไม่ใช่แค่ปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชา ก็จะมีคำขออื่นๆอีก สิ่งสำคัญต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม ไม่เช่นนั้น ก็ต้องมาออกมาตรา 44 ตลอดคงไม่ใช่ ยิ่งมีรัฐบาลจะทำอย่างไร” นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องสิทธิบัตรกัญชาแล้ว สิ่งที่เป็นห่วงอีกเรื่อง คือ ความพยายามในการผลักดันร่างปรับแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542  ซึ่งเรื่องนี้น่ากลัว เพราะหากมีกฎหมายตรงนี้ไทยจะปรับปรุงสายพันธุ์ต่างๆยากมาก หรือไม่ได้เลย ในขณะที่ก่อนหน้านี้อย่างสหรัฐอเมริกามีการพัฒนาสายพันธุ์มากมาย แต่เมื่อไทยทำไม่ได้ และสายพันธุ์ที่เหลืออยู่ก็ไม่มากเหมือนเดิม การใช้ประโยชน์จะยิ่งน้อยลง สุดท้ายกลายเป็นกฎหมายต่างๆ ออกมาก็จะเอื้อต่างชาติ แต่ไม่เอื้อคนไทย  เรื่องนี้ก็ต้องมีความชัดเจนด้วยจะเอาอย่างไร ไม่เช่นนั้นไทยก็ไม่ได้ประโยชน์อีก

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

Advertisement

ภาคประชาสังคมเปิดปัญหาใหม่ ‘สิทธิบัตรกัญชา’ จ่อแก้กม.คุ้มครองพันธุ์พืช เอื้อต่างชาติ

 

 

Advertisement

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image