2กุมภาฯ ดีเดย์! บิน 47 ลำ ขึ้นโปรยน้ำสยบฝุ่นPM2.5 ปฏิบัติการแรก ถ.พระราม2

เวลา 14.00 น.วันที่ 31 มกราคม ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีความรู้เฉพาะทางจากทุกภาคส่วน ตลอดจนผู้ประกอบการและผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมกว่า 300 ราย

โดยในที่ประชุม พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเรียกประชุมเร่งด่วน เพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน เบื้องต้น 1.กทม.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างทุกโครงการ และบ้านเรือนประชาชนทุกหลังคาเรือนในการติดตั้งสปริงเกอร์บนอาคาร หรือหลังคาบ้านเพื่อฉีดละอองน้ำบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง และให้หมั่นทำความสะอาดอาคาร บ้านเรือน และต้นไม้บริเวณโดยรอบ ซึ่งปัจจุบันการติดตั้งสปริงเกอร์มีราคาไม่สูงมากนัก รวมถึงให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นอย่างเคร่งครัด 2.ขอความร่วมมือรถไฟฟ้าบีทีเอสติดตั้งระบบน้ำสปริงเกอร์ตามสถานีรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง และ 3.มอบหมายให้ 50 สำนักงานเขต ประชาสัมพันธ์และแจ้งประชาชนทุกหลังคาเรือนให้ร่วมกันจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วกรุงเทพฯ โดยให้ร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน ต้นไม้ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้

“ปัจจุบัน กทม.ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งระบบสปริงเกอร์บริเวณศาลาว่าการ กทม.1 และ 2 พร้อมสั่งการให้หน่วยงานสังกัด กทม.ทุกแห่ง ทั้งอาคารสำนักงานเขต 50 เขต โรงพยาบาล กทม. โรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขดำเนินการติดตั้งสปริงเกอร์ด้วย” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

Advertisement

ด้านนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ชื่นชมผู้ว่าฯ กทม.ที่กล้าประกาศ เรื่อง กำหนดควบพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สาธารณสุข พ.ศ.2535 ถือเป็นมาตรการระยะสั้นที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่จะช่วยบรรเทาปัญหาได้เพียงชั่วระยะเท่านั้น กทม.ต้องมีมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาของแหล่งกำเนิดมลพิษที่พบมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณรถยนต์ที่มีปริมาณมากกว่าความยาวของถนนในกรุงเทพฯ ถึง 4 เท่า รวมถึงการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอื่น เช่น ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้เตาทอดไม่มีระบบระบายอากาศ หรือเตาเผาศพที่ไม่มีมาตรฐาน ก่อให้เกิดควันและมลพิษ

“การฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ต้องมีขนาดละออง 0.1-3 ไมครอน โดยไม่ควรฉีดบนพื้น ควรฉีดพ่นละอองในอากาศจากตึกสูง ส่วนการฉีดละอองน้ำที่ กทม.ดำเนินการอยู่นั้น จะช่วยลดฝุ่น PM10 ได้ ไม่เพียงแต่ไทยประสบปัญหาฝุ่นพิษ มีหลายประเทศที่เคยและกำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้จีนใช้เวลาแก้ปัญหาถึง 10 ปี” นายสนธิ กล่าว

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.สามารถดำเนินการได้ทันที คือ การแก้ไขฝุ่นละออง PM10 ส่วนฝุ่น PM2.5 มองว่ามาตรการที่ กทม.ดำเนินการ ทำได้ยาก เนื่องจากฝุ่นมีขนาดเล็กมากเกินประสิทธิภาพที่เครืองมือและอุปกรณ์ฉีดน้ำของ กทม. ต่อมาการนำโดรนขึ้นบินฉีดพ่นละอองน้ำสะอาดในอากาศช่วยดูดจับฝุ่นละออง มองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดี

“อย่างที่ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่าดีกว่า กทม.ไม่ทำอะไรเลย ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดนั้นเป็นการวิ่งไล่จับฝุ่นทั้งสิ้น จึงเสนอให้ กทม.ติดตั้งเครื่องกรองอากาศเช่นเดียวกับจีน เวลานี้คงก่อสร้างไม่ทัน เพราะใช้งบจำนวนมากและระยะเวลาก่อสร้างนาน แต่ในอนาคตคาดว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ โดยวิธีการของเครื่องกรองอากาศจะเป็นการดูดอากาศเข้า ขณะเดียวกัน มก.กำลังร่วมมือโรงเรียนการบินกรุงเทพ ติดตั้งเครื่องบรรจุน้ำและประกอบอุปกรณ์บนเครื่องบินขนาดเล็กจำนวน 47 ลำ เพื่อบินพ่นน้ำในอากาศ แต่ขอให้ภาครัฐสนับสนุนน้ำสะอาดและเงื่อนไขการบิน”

น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริษัท บางกอกเอวิชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) กล่าวว่า โรงเรียนการบินกรุงเทพต้องการช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมองว่าการใช้ละอองขนาดเล็กผ่านเครื่องบินขนาดเล็กจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้โดรน แม้จะมีสามารถบรรจุน้ำได้ลำละ 150 ลิตร ก็ตาม ส่วนวิถีการบินจะบินเกาะกลุ่มเรียงกันเป็นหน้ากระดานด้วยรัศมีทำการบินประมาณ 1 กิโลเมตร หรือ 1,000 เมตร ประกอบด้วย เครื่องบินจำนวน 15-20 ลำ ใช้ความเร็วอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดจะบินได้ทั้งหมด 25 รอบ โดยจะช่วยฉีดพ้นน้ำครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯทั้งหมด

“คาดจะเริ่มทำการบินได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น.วันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยจะกำหนดเส้นทางการบินบริเวณถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภาวะวิกฤต อยู่ไกลจากเขตพระราชฐานและเงื่อนไขการบิน เพื่อไม่ให้เส้นทางการบินกระทบต่อท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองและสุวรรณภูมิ โดยจะใช้ความสูงการบินอยู่ที่ 500-1,000 ฟุต ทั้งนี้ ขอให้ กทม.ทำหนังสือไปยังบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการจราจรทางกาศ เพื่อให้การขึ้นบินถูกต้องตามเงื่อนไขการบิน และภายหลังจากนำเครื่องบินขนาดเล็กขึ้นบินแล้ว เห็นควรให้ กทม.ชะล้างผิวถนนให้สะอาดเพื่อป้องกันการลอยตัวของฝุ่นละอองขึ้นมาบนชั้นบรรยากาศอีก” น.ท.ปิยะ กล่าวและว่า โดยในเวลา 09.00 น.วันที่ 1 กุมภาพันธ์ โรงเรียนการบินกรุงเทพจะมีการประชุมเพื่อวางแผนการบินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมขอให้กทม.ร่วมส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ ในตอนท้าย พล.ต.อ.อัศวิน ยังสั่งการให้นายเกรียงพล พัฒนารัฐ เลขานุการผู้ว่าฯกทม.จัดทำหนังสือเร่งด่วนเพื่อส่งไปยังบริษัท วิทยุการบินฯ ทันที เพื่อให้โรงเรียนการบินกรุงเทพสามารถนำเครื่องบินขนาดเล็กทั้งหมดเริ่มปฏิบัติการโดยจะบินเป็นทางคู่ขนานรอบละ 10 ลำ บินสูงประมาณ 500 เมตร โดยเริ่มวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ที่ถนนพระราม 2 เป็นแห่งแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม.จะจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนฟรีทั้ง 50 เขต ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป กำหนดเปิดกิจกรรมที่ชุมชนมาตานุสรณ์ เขตบางคอแหลม ในเวลา 14.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image