‘นิด้า’ แนะจัดวิ่งรถวันคู่-คี่เฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศ.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของภาครัฐในขณะนี้ ว่า หลายมาตรการที่เรามีความรู้สึกว่า ภาครัฐทำอะไรกันอยู่ ดูเป็นเรื่องขบขันก็มีการทำมาแล้วในต่างประเทศหลายมาตรการ เช่น ห้ามปิ้งย่าง โดรนพ่นสารกำจัดหมอกควัน การรณรงค์ประชาชนสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมภายนอกบ้าน ก็มีเช่นเดียวกัน

“อย่างเรื่องของการสเปรย์น้ำ มีคนพูดเยอะมาก ข้อเท็จจริง คือ ไม่ใช่สเปรย์น้ำแบบสะเปะสะปะ แต่ต้องทำเป็นช่วงเวลา ซึ่งเราทราบดีอยู่แล้วว่า ค่าของฝุ่นจะพุ่งขึ้นสูงในช่วงไหน อย่าง กทม.จะเป็นช่วงเช้าและเย็น ดังนั้น ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ในเวลากลางวันที่อากาศใกล้ผิวโลกพองตัวขึ้นจากความร้อนในช่วงเวลากลางวัน ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จะลดลงอัตโนมัติ ไม่มีประโยชน์ที่จะฉีดสเปรย์ และต้องจากที่สูง มีหัวฉีดละอองขนาดเล็กจิ๋วมาก และทำรอบอาคารจะเกิดประโยชน์ เพราะคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแต่ละวันในอาคารมากกว่าข้างนอก” ศ.ศิวัช กล่าวและว่า อากาศที่ผ่านเข้าอาคารและผ่านเครื่องปรับอากาศจะมีการกรองมลพิษให้อากาศสะอาดขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นฝุ่นขนาดใหญ่ ถ้าขนาดเล็ก ยิ่งต่ำกว่า 1 นาโนเมตร ก็ยังรุดรอดเข้าไปได้ อย่างไรก็ตาม การสเปรย์น้ำรอบดาดฟ้าอาจช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่คิดว่า 100%” ศ.ศิวัช กล่าว

ศ.ศิวัช กล่าวว่า สำหรับมาตรการสั่งปิดโรงเรียน ขอให้ครูมีการติดตามผลการเรียนรู้ และหามาตรการสื่อสารกับนักเรียน ผ่านโซเชียล เพื่อให้เรียนอยู่กับบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ออกไปทำกิจกรรมนอกอาคาร และอาจต้องทำแบบจีน ที่ในเขตพิทักษ์สิ่งแวดล้อมหรืออุทยานแห่งชาติใช้ค่ามาตรฐานรายวัน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมใช้ 75 มคก./ลบ.ม. ส่วนมาตรการรถทะเบียนเลขคู่เลขคี่ ควรเน้นเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน และอย่าบังคับใช้ทุกวัน ให้ใช้เฉพาะช่วงเกิดวิกฤตเท่านั้น รวมถึงควรมีมาตรการไม่เก็บภาษีเครื่องกรองอากาศ อย่ามองว่าไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ควรมองเป็นอุปกรณ์เสริมทางการแพทย์ และควรมีมาตรการให้เขตพื้นที่เสี่ยงที่มีความหนาแน่นสูง ต้องผลักดันให้ใช้ยูโร 5 ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image