เอฟทีเอ ว็อทช์ จ่อร้องกฤษฎีกา-สนช.กรณีม.44 สิทธิบัตรกัญชา มีคำสั่งส่งผลเสียต่อไทย

ภาคประชาสังคมเผยยังมีอีก 20 คำขอสิทธิบัตรกัญชา ส่อปัญหาจากคำสั่ง คสช. ให้แก้ไขกม.หนุนการละเลยหน้าที่กรมทรัพย์สินฯ พร้อมร้องต่อกฤษฏีกา-สนช.พิจารณา

สิทธิบัตรกัญชา-เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์   นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวถึงกรณีภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีคำสั่งให้จัดการปัญหาสิทธิบัตรกัญชา ว่า   หลังจากมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2562 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการยกคำขอสิทธิบัตรกัญชาจริงๆ 10 คำขอ เพราะอีก 3 คำขอ ทางบริษัทได้ละทิ้งคำขอไปเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจับตาต่อไปมี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องจับตา ตรวจสอบ และดำเนินการ คือ 1. บริษัทที่ถูกแจ้งยกคำขอมีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 60 วัน 2. บริษัทดังกล่าวและบริษัทอื่นๆสามารถยื่นคำขอได้ใหม่อีกครั้งหลัง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับปรับปรุงแก้ไขมีผลบังคับใช้ แต่ต้องไม่ใช่การประดิษฐ์เดิมที่เคยยื่นคำขอแล้ว ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีการนำเอาการประดิษฐ์เดิมมาสวมรอยว่าเป็นการประดิษฐ์ใหม่หรือไม่

3.กรมทรัพย์สินทางปัญญา ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเมื่อมีการยื่นคำขอใหม่ และขัดต่อมาตรา 9 ไม่ว่าจะเป็น กรณีการยื่นขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสารสกัดจากพืช การบำบัดรักษาโรค เป็นต้น จะต้องปฏิเสธคำขอตั้งแต่ต้น ไม่ปล่อยให้มีการรับคำขอ จนเข้าสู่กระบวนการประกาศโฆษณาเหมือนดังที่ผ่านมา เพราะจะทำให้การยกเลิกคำขอเป็นไปได้โดยยาก เป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานและนักวิจัยในประเทศ และ4. ต้องเร่งวิจัยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์และอื่นๆอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เพื่อไม่ให้มีการผูกขาดไม่ว่าจะเป็นของบริษัทยักษ์ใหญ่ใดๆก็ตาม

ด้าน น.ส.กรรณิการ์  กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทางกลุ่มฯร่วมกับไบโอไทยได้ร่วมกันประชุม เพื่อวิเคราะห์คำสั่งตามม.44 ของ คสช. โดยดูว่าคำสั่งแต่ละข้อได้รับการปฏิบัติแล้วหรือยัง เบื้องต้นพบว่ามีการยกเลิกไป 10 ฉบับ เพราะอีก 3 ฉบับเขาละทิ้งไปเอง อย่างไรก็ตาม แต่ในคำสั่งตามม.44 ยังมีรายละเอียดอื่นๆอีก เพราะก่อนหน้านั้นรมว.พาณิชย์ เคยแถลงและบอกว่ามี 33 ฉบับคำขอ ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตกำลังรวบรวมข้อมูลว่า ต้องยกเลิกด้วยหรือไม่ เพราะตามข้อ 2 ของคำสั่ง คสช. พวกนี้สารทำเหมือน ก็ต้องรวมหมดหรือไม่ ดังนั้น จะไม่ใช่แค่ 13 คำขอเท่านั้น ก็ต้องดูอีก 20 ฉบับว่า จัดการได้อย่างไรต่อไป

Advertisement

“ที่น่าห่วงคือ คำสั่งม.44 ในข้อ 5 ระบุว่ายกเลิกความในม.30  หมายถึงให้แก้ไขม.30 ในพ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งเดิมกำหนดให้การตรวจสอบสิทธิบัตร และการยกเลิกสามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอผู้ขอสิทธิบัตรมายื่นขอตรวจสอบก่อน  แต่ม.30 ที่จะให้แก้ไข กลับระบุว่า หากหลังมีการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรนั้นๆ  และเห็นว่าคำขอสิทธิบัตรนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างม.9 ม.10 ม.11 และ ม.14 ต้องรอให้บริษัทยื่นตรวจสอบก่อน จึงจะยกเลิกได้  หมายความว่า หากประกาศโฆษณาแล้วตามกฎหมายจะให้เวลา 5 ปีในการตรวจสอบ ซึ่งจริงๆ กฎหมายเดิมยกเลิกได้หากคำขอขัดกฎหมาย แต่ประกาศนี้กลับไปสนับสนุนการละเลยหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า คุณไม่ต้องทำอะไรก็ได้ จนกว่าบริษัทจะยื่นตรวจสอบ แบบนี้ต้องรอ 5 ปี ซึ่งจะเป็นปัญหากับสิทธิบัตรอื่นๆ ในอนาคต ไม่ใช่แค่กัญชา กลายเป็นว่า ม.44 ซึ่งดูเหมือนจะแก้ปัญหาสิทธิบัตรกัญชา แต่กลับสร้างปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อคนไทย เพราะไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิบัตร แต่จะไปเอื้อบริษัทต่างๆ อีกมาก โดยเราจะร้องไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ และจะร้องสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กรณีเช่นกัน” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image