ประกันสังคมเผย รพ.เดชา ติดหนี้ รพ.จุฬา-ประกันสังคม 32 ลบ. เร่งออกคำสั่งเคลียร์ด่วน!

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และนายอนันตชัย อุทัยพัฒนาชีพ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการดูแลผู้ประกันตนจำนวน 40,027 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่สำนักบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งปิดโรงพยาบาลเดชามาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา และการดูแลลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีค้างจ่ายค่าจ้าง

นายโกวิทแถลงว่า โรงพยาบาลเดชาเป็นคู่สัญญากับ สปส.มาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้พิจารณาตามกฎเกณฑ์ของการเข้าเป็น รพ.คู่สัญญากับ สปส. คือเป็น รพ.ขนาด 100 เตียงขึ้นไป มีแพทย์ไม่น้อยกว่า 12 สาขา และมีแพทย์ประจำไม่น้อยกว่า 4 สาขา และที่ผ่านมาไม่มีการร้องเรียนจากผู้ประกันตนในกรณีการบริการของ รพ.เลย ส่วนเรื่องสถานะทางการเงินนั้น สปส.ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบ รพ.เอกชนที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญา เนื่องจากตามปกติ สปส.จะตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดการแพทย์) และพิจารณาจากข้อร้องเรียนของผู้ประกันตน ส่วนการบริหารเรื่องกำไรขาดทุนนั้นเป็นเรื่องการบริหารงานของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง เพราะที่ผ่านมาพบว่า รพ.ที่มีกำไรดีแต่กลับถูกร้องเรียนเรื่องการบริการก็มีจำนวนไม่น้อย แต่เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมามีหนังสือจาก รพ.จุฬาฯ ซึ่งเป็น รพ.รับส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.เดชา แจ้งทวงเงินค่ารักษามายัง สปส. เป็นเงิน 23 ล้านบาท อีกทั้งยังติดค้างเงินสมทบกับกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างอีก 8 ล้านบาท รวมมีหนี้กว่า 32 ล้านบาท ส่วนเงินค่ารักษาพยาบาลนั้น สปส.ได้จ่ายเงินให้กับ รพ.เดชาในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นเงินกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งเงินนี้ก็ไม่ได้ถูกนำไปจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง รพ.เดชา ส่วนเงินค่ารักษาพยาบาลในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นวงเงิน 14 ล้านบาทนั้น ยังไม่ได้จ่ายให้ รพ.เดชา ซึ่ง สปส.อาจจะต้องพิจารณาในการบริหารจัดการตามความเหมาะสม เนื่องจาก รพ.เดชายังคงค้างหนี้กับ รพ.จุฬาฯ และ สปส.

“สปส.จะต้องไปพิจารณาในการต่อสัญญากับ รพ.เดชาอีกครั้ง ส่วนหาก รพ.เดชาต้องการมาเป็น รพ.คู่สัญญาอีกก็จะต้องมาสมัครเข้ารับการประเมินใหม่ รวมทั้งอาจจะนำเรื่องของสถานะทางการเงินของ รพ.ที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญามาเป็นส่วนหนึ่งประกอบการพิจารณาการทำสัญญาด้วย” นายโกวิทกล่าวและว่า สปส.ได้หารือกับ รพ.จุฬาฯ ว่า หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยระหว่างวันที่ 12-15 พฤษภาคม สามารถเข้ารักษาได้ที่ รพ.จุฬาฯ ได้ โดย สปส.จะดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือสามารถเข้ารักษาที่ รพ.รัฐอื่นๆ รวมทั้ง รพ.เอกชนได้ ซึ่ง สปส.ก็จะจ่ายเงินตามเกณฑ์ค่ารักษา ส่วนการโอนย้ายผู้ประกันตนจำนวน 40,027 คนไป รพ.อื่นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างโอนย้ายข้อมูลผู้ประกันตนไปยัง รพ.ตำรวจ จำนวน 10,000 คน ที่เหลือจะเฉลี่ยระหว่าง รพ.เลิดสินและ รพ.ราชวิถี โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 16 พฤษภาคมนี้ โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบทางเว็บไซต์ของ สปส. www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506 รวมทั้งจะมีการแจ้งไปยังสถานประกอบการด้วย หากผู้ประกันตนไม่สะดวกในการเข้ารับบริการใน รพ.ที่โอนไปนั้น ผู้ประกันตนกลุ่มนี้สามารถยื่นขอเปลี่ยน รพ.ได้ภายใน 3 เดือน

นพ.สุรเดชแถลงว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการจะดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างค้างจ่ายโดยเร็วที่สุด ส่วนกรณีหากมีการเลิกจ้างนั้นจะดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ให้ครบถ้วน หรือหากลูกจ้างต้องการหางานใหม่ กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้ประสานหาตำแหน่งงานว่างเพื่อรองรับในสถานพยาบาลใกล้เคียงไว้แล้ว 2 แห่ง โดยมีตำแหน่งงานว่างประมาณ 300 คน

Advertisement

นายอนันตชัยกล่าวว่า กสร.ได้มีแนวทางช่วยเหลือลูกจ้าง รพ.เดชาทั้ง 206 คนให้ได้รับค่าจ้างค้างจ่าย โดยเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งเรียกนายจ้างมาชี้แจงและให้นำหลักฐานการจ่ายค่าจ้างมาแสดง แต่นายจ้างยังไม่ยอมมาพบเจ้าหน้าที่ตามคำสั่ง โดยภายในสัปดาห์หน้าจะออกหนังสือคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง หากไม่ปฏิบัติตามภายใน 30 วัน กสร.ก็จะแจ้งความดำเนินคดีและจะนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย หากเกินกำหนดแล้วนายจ้างยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างสามารถมาเขียนคำร้องเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ โดยจะได้รายละไม่เกิน 18,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image