‘กัปตันปิยะ’ เผยสเปรย์น้ำได้ผลลด PM2.5 ได้ พร้อมบิน 120 เที่ยว/วัน รอ กทม.ตัดสินใจ

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริษัท บางกอกเอวิชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) เปิดเผยว่า หลังจากที่บีเอซีได้ทดลองนำเครื่องบินเล็กของโรงเรียนการบินกรุงเทพ จำนวน 8 ลำ ขึ้นพ่นละอองน้ำเพื่อชะล้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ที่ลอยในอากาศเหนือกรุงเทพมหานคร โดยน้ำร่องที่บริเวณย่านถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน เป็นเวลา 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ และก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้มีการทดลองขึ้นบินพ่นละอองน้ำในพื้นที่อื่นๆด้วย จากการติดตามผลการปฏิบัติงานได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีการตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้งก่อน และหลังการปฏิบัติการ พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลง

“วันนี้หลังขึ้นบินพ่นละอองน้ำที่ย่านพระราม 2 ในช่วงเช้า ทีมงานได้มีการประชุมประเมินผลการปฏิบัติงานโดยนำตัวเลขค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่วัดได้มาเปรียบเทียบ พบว่าก่อนพ่นน้ำค่าฝุ่น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จากนั้นเมื่อพ่นละอองน้ำค่าฝุ่นลดลงเป็น 25 มคก./ลบ.ม. และ15 มคก./ลบ.ม. และเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณใกล้เคียง คือ ย่านสาทร และย่านคลองสาน ที่ไม่ได้มีการฉีดพ่นละอองน้ำ พบว่าตัวเลขมีความแตกต่างกัน โดยย่านสาทร และย่านคลองสานตัวเลขไม่ลดลง ซึ่งจากการดังกล่าวที่มีการทดลองมาต่อเนื่อง 3 วัน ทำให้มั่นใจได้ว่าค่าฝุ่นในย่านพระราม 2 ที่ลดลงเป็นผลมาจากการสเปรย์ละอองน้ำ” น.ท.ปิยะ กล่าว

นอกจากนี้ น.ท.ปิยะ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ทีมงานยิ่งมั่นใจว่าการสเปรย์ละอองน้ำสามารถจับฝุ่น PM2.5 ได้ผลนั้น เพราะได้มีการตั้งระบบการสเปรย์ละอองน้ำให้มีขนาด 3 ไมครอน เพื่อให้จับกับฝุ่น PM2.5 และละอองน้ำนี้จะไม่จับฝุ่นขนาด 10 ไมครอน หรือ PM10 ดังนั้น เมื่อมีการวัดค่าฝุ่นจึงพบว่าตัวเลขที่ลดลงจะเป็นเพียง PM2.5 เท่านั้น

“สาเหตุที่ทีมงานปฏิบัติการเฉพาะ PM2.5 เพราะเรารู้ว่าเป็นฝุ่นพิษที่มีสารก่อมะเร็ง และสร้างปัญหาต่อสุขภาพ ส่วน PM 10 นั้น แม้จะมีปัญหาต่อสุขภาพเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกับ PM2.5 ถือว่ามีผลกระทบน้อยกว่า ดังนั้นทีมงานจึงมุ่งเป้าไปที่ PM2.5 เท่านั้น” น.ท.ปิยะ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมั่นใจว่าแผนปฏิบัติการนี้ได้ผล จากนี้ไปจะดำเนินการอย่างไรต่อ น.ท.ปิยะ กล่าวว่า จะมีการนำผลเสนอต่อคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงการปฏิบัติการทดลอง และทีมงานได้รับอนุญาตจากบริษัท วิทยุการบิน จำกัด ให้ปฏิบัติการบินขึ้นพ่นน้ำถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์เท่านั้น หาก กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นประโยชน์ บีเอซีก็พร้อมร่วมภารกิจนี้ต่อไป เพราะศักยภาพของบีเอซีสามารถดำเนินการได้ถึงวันละ 120 เที่ยวบิน

“ขณะที่ทำการทดลองนี้ ใช้เครื่องบินเล็กเพียง 8 ลำ ดำเนินการในพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) แต่เรามีศักยภาพมากกว่านั้น สามารถใช้เครื่องบินเล็ก 30 ลำ บินได้สูงสุด 120 เที่ยวบินต่อวัน เฉลี่ยลำละ 4 เที่ยวบินต่อวัน เที่ยวละ 30 นาที อย่างไรก็ตาม หากจะให้ดำเนินการต่อ สิ่งที่จะต้องพิจารณาเร่งด่วน คือ ต้องมีคณะทำงาน และการสั่งการที่ชัดเจนเพื่อให้การปฏิบัติการได้ประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากพบว่าในการลดฝุ่น PM2.5 ให้ได้ผลดี จะต้องทำงานร่วมกันระหว่างบนท้องฟ้าและภาคพื้นดิน โดยทันทีที่มีการพ่นละอองน้ำจับฝุ่น PM2.5 ลงสู่พื้นดินแล้ว จะต้องมีหน่วยงานที่ฉีดล้างพื้นที่เพื่อให้ PM2.5 ลงท่อระบายน้ำทันที หากไม่ดำเนินการควบคู่กันไป การพ่นละอองน้ำจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ดังนั้นต้องมีเจ้าภาพชัดเจนเพื่อกำหนดจุด และปฏิบัติการร่วมกัน” น.ท.ปิยะ กล่าว

เมื่อถามอีกว่าในการทดลองนำเครื่องบินเล็กขึ้นพ่นละอองน้ำครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดบ้าง น.ท.ปิยะ กล่าวว่า ในระยะแรกนี้ยังใช้งบประมาณของบีเอซีทั้งหมด แต่ล่าสุด บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ประสานที่จะสนับสนุนเชื้อเพลิงในการขึ้นปฏิบัติการ แต่ยังไม่ได้ตอบรับใดๆ เนื่องจากขณะนี้เป็นเพียงการทดลอง และว่า บีเอซีเกิดขึ้นมาได้เพราะการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ นักบินทุกคนคือกลุ่มที่เออร์ลี่ รีไทร์ มาจากกองทัพอากาศ ดังนั้นขอให้เชื่อมั่นว่าทุกคนทำเพื่อประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image