กก.ยุทธศาสตร์ชาติสิ่งแวดล้อมฯ ชี้ 2 หนทางจัดการปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน

กก.ยุทธศาสตร์ชาติสิ่งแวดล้อมฯ ชี้ 2 หนทางจัดการปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงกับการลดมลพิษ โดยเฉพาะ ปริมาณฝุ่นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน อยู่ในยุทธศาสตร์ย่อยด้านสิ่งแวดล้อม คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเรื่องของ การยกระดับ ปรับกระบวนทัศน์ ปรับตัวอย่างไร ให้เข้ากับการพัฒนาบ้านเมือง นั่นคือ แม้บ้านเมืองจะพัฒนา แต่การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนก็จะละทิ้งไม่ได้

“ในเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้น ในยุทธศาสตร์ใหญ่ เรากำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ว่าพื้นที่ป่าจะต้องมี 55% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ โดย 5% จะต้องเป็นพื้นที่สีเขียวในเมือง ซึ่งตัวเลข 5% ก็เป็นตัวเลขที่ทางองค์การอนามัยโลกกำหนดเอาไว้อยู่แล้ว แต่บ้านเรายังไม่ถึงตรงนั้น บ้านเรายังไม่ถึง 2% ด้วยซ้ำ ต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเอาไว้เยอะ ซึ่งหากคิดเป็นปริมาณโดยเฉลี่ยคือ 9 ตารางเมตร ต่อคน แต่ในกรุงเทพเวลานี้ มีไม่ถึง 3 ตารางเมตรด้วยซ้ำ วิธีการดำเนินการ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องทำให้ทุกคนเห็นว่า การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และมลพิษ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือของหน่วยงานใด แต่เป็นเรื่องของทุกคน” รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว

รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวว่า เช่น เรื่องของฝุ่นที่สร้างปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่เวลานี้ ถ้าแค่การผลักดันให้หน่วยงานที่ได้ขึ้นชื่อว่าเกี่ยวข้องและมีหน้าที่แก้ปัญหา ก็ได้แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และต้องคอยแก้อยู่เรื่อยไป แต่หากมีการจัดการเรื่องของการปรับกระบวนทัศน์ ปรับทัศนคติ คือ เอาเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมใส่ลงไปในบทเรียน ปรับการเรียน การสอนให้ทั้งครูและนักเรียนออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เพื่อให้ทั้งครู ทั้งนักเรียนได้มีกระบวนความคิดทัศนะคติเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ เมื่อเปลี่ยนทัศนะคติ และมุมมองเรื่องนี้ได้ จะไม่มีใครคิดที่จะผลักดันให้หน่วยงานหรือองค์กรเป็นผู้จัดการสิ่งแวดล้อมแต่เพียงผู้เดียว แต่จะเกิดการร่วมมือในการช่วยป้องกัน รักษา ดูแล ปกป้อง เพื่อทำให้มีปัญหานี้น้อยที่สุด หรือไม่มีเลย

Advertisement

เมื่อถามว่า เรื่องการเพิ่มที่สีเขียวในอนาคตอันใกล้ หากจะทำให้เป็นรูปธรรม มีแนวทางอย่างไร รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวว่า มี 3 แนวทาง คือ 1.ออกมาตรการ ทำ กรีน บิวดิ้ง สำหรับตึกใหม่ที่กำลังก่อสร้าง หรือตึกเก่า ก็สามารถปรับปรุงเพื่อใช้หลักการ กรีนบิวดิ้งได้ ซึ่ง กรีน บิวดิ้ง นั้นไม่ใช่ว่าจะมีแค่ปลูกต้นไม้บนตึกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการประหยัดการใช้พลังงานให้เหมาะสมภายในตึก 2.การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งมีการสำรวจแล้ว ในกรุงเทพ มีที่ดินประเภทนี้อยู่มากพอสมควร ทั้งที่ธนารักษ์ ที่ราชพัศดุ และ 3.ให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ออกมาเป็นมาตรการจริงจังสำหรับการทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพให้ได้ 5% ภายในเร็ววันนี้

“สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่า เราควรทำ แต่เราจะต้องทำ ซึ่งกรณีปัญหาฝุ่น ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นชัดว่า เราปล่อยให้ปัญหาเกิดโดยละเลยการจัดการที่ต้นเหตุ หากเรามีพื้นที่สีเขียวมากพอ หากเรามีทัศนคติ ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ ที่ว่า ต้องอย่าให้มันเกิด หรือ ป้องกันไม่ให้มันเกิด มากกว่า เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ค่อยจัดการ ปัญหาจะไม่ลุกลามบานปลาย และที่สำคัญคือ เราจะสามารถจัดการปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน”รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image