ภาคประชาชนค้าน ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร เหตุลดทอนมาตรการปกป้องสาธารณะ

เมื่อวันที่  4 กุมภาพันธ์  นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์  กล่าวว่า จากกรณีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับที่ พ.ศ. …ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2532 และ พ.ศ. 2542 และกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น พบว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรดังกล่าว ได้ลดทอนมาตรการปกป้องสาธารณะลง และยังไม่ขยายเวลาการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน เนื่องจากช่วงระยะเวลาคัดค้านที่สั้นเกินไป จนทำให้คำขอสิทธิบัตรด้อยคุณภาพคาอยู่ในระบบมากมาย  จากข้อเสนอของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และองค์กรภาคีเสนอให้ขยายระยะเวลาคัดค้าคำขอสิทธิบัตรได้ก่อนออกสิทธิบัตร (Pre-grant opposition) เป็น 180 วัน ไม่ใช่แค่ 90 วันตามเดิมหลังโฆษณาครั้งที่สอง อีกทั้งในร่างพ.ร.บ. ควรกำหนดภายใน 3-6 เดือนนับจากที่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ด้วย และเห็นว่าควรให้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการติดตามเพื่อการยื่นคำคัดค้าน พร้อมกับอยากเห็นการพิจารณากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นไปอย่างรอบด้านกว่านี้

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ ยังตัดสาระสำคัญของมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (CL) โดยแก้ไขให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจการใช้สิทธิให้เหลือเพียงกระทรวงเท่านั้น จากเดิมที่ทบวง และ กรม สามารถใช้สิทธิได้ ซึ่งถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิการให้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวของประชาชน อีกทั้ง ยังขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุขที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในปี 2549 และ 2550 กับยารักษาไวรัสเอชไอวี ยารักษามะเร็ง และยารักษาโรคหัวใจ ส่งผลให้ประเทศสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มได้มากขึ้น และประหยัดงบประมาณได้มากว่า 4,500 ล้านบาท และเป็นตัวอย่างที่ทั่วโลกยกย่อง

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิ์สามารถร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (CL) ได้ ซึ่งเป็นการกำหนดที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์ที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก และขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ที่เน้นย้ำว่าการคุ้มครองด้านสาธารณสุขต้องมาก่อนการค้า ในเรื่องค่าตอบแทน (Royalty fee) ในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือมาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (CL) กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้พิจารณาจากเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้า ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์และขัดต่อเจตจำนงของปฏิญญาโดฮาฯ ด้วยเช่นกัน เพราะจะกลายเป็นอุปสรรคการเข้าถึงยาได้  ในประเด็นนี้ ควรจะที่เป็นไปตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน ซึ่งให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างหน่วยงานรัฐที่ประสงค์ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรกับผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร  ทางภาคประชาสังคมจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตรดังกล่าว และขอให้มีการดำเนินการอย่างรอบด้านมากกว่านี้

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image