ข้อห้ามก่อนนวด รู้ไว้! อย่าเสี่ยง

กรณีหญิงอายุครรภ์ 6 เดือน เข้ารับบริการนวดเท้าในจังหวัดเชียงใหม่ จนเป็นผลให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต ส่วนหญิงดังกล่าวต้องเข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดโดยอาการยังโคม่า ญาติเข้าแจ้งความและร้องเรียนว่าเกิดจากการนวดดังกล่าว จนมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่เป็นข่าวไปนั้น

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า หญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการนวด จะมีข้อควรระวังอยู่ โดยเฉพาะไตรมาสแรก (1-3 เดือน) และอายุครรภ์ 6 เดือนเป็นต้นไปจนใกล้คลอด ควรละเว้นการนวด ข้อควรระวังเกี่ยวกับภาวะแท้งบุตรจากพฤติกรรมตัวเอง เช่น ได้รับการกระแทกรุนแรง หกล้มหรือรับประทานยาต้องห้าม เป็นต้น

ส่วนสิ่งกระตุ้นจากภายนอกก็มีมากเช่นกันไม่ใช่จากการนวดเพียงอย่างเดียว ช่วงไตรมาส 2 (3-6 เดือน) นวดได้ เพื่อการผ่อนคลาย นวดคลึงเบาๆ ให้หญิงมีครรภ์ที่นอนตะแคงมีหมอนรองเข่าและท้องอยู่ในท่าที่สบาย หลีกเลี่ยงการนวดบริเวณท้อง และอุ้งเชิงกราน ห้ามนวดหนักและนวดแบบกดจุด

สำหรับช่วงไตรมาส 3 (7 เดือนขึ้นไป) ไม่ควรนวด ยกเว้นในช่วงใกล้จะคลอดสามารถนวดกล่อมท้องได้ เมื่อเด็กเริ่มจะกลับหัว โดยหมอผดุงครรภ์ไทยที่มีความชำนาญ เพื่อให้เด็กในครรภ์อยู่ในท่าที่เหมาะสม และช่วยให้คลอดง่าย

Advertisement

สำหรับข้อห้ามและข้อควรระวังสำหรับผู้รับบริการนวดทั่วไป ได้แก่ มีไข้เกิน 38.5 องศาเซลเซียส บริเวณผิวหนังมีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน มีภาวะกระดูกแตกหัก ปริร้าว หรือมีภาวะผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด

ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุแล้วยังไม่หายดี แผลเปิด หากมีอาการดังกล่าวเหล่านี้ก็ไม่ควรรับบริการนวดโดยเด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนนิยมการนวดมากขึ้น โดยเฉพาะการนวดเพื่อผ่อนคลาย หรือหากเรารู้สึกปวดเมื่อย รู้สึกตึงตามคอ บ่า ไหล่ ก็จะเข้าร้านนวดเพื่อสุขภาพกันมาก แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้ารับบริการการนวดได้หมด

นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ความรู้เรื่องนี้ว่า การนวดเป็นเรื่องของภูมิปัญญาของบรรพชนที่คิดค้นมาหลายร้อยปี ในอดีตก็มีการใช้การนวดเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ จนกระทั่งปัจจุบัน เพียงแต่การนวดจำเป็นต้องทำโดยคนที่มีความรู้ความชำนาญ หากคนไข้มีโรคประจำตัว หรือมีอาการที่เป็นข้อห้าม เบื้องต้นเราต้องทราบตัวเราเอง และหากจะนวดก็ควรไปเข้ารับบริการที่คลินิกแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข มีเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของผู้ให้บริการระบุชัดเจน

ที่สำคัญคลินิก หรือสถานพยาบาลเหล่านี้ก็จะมีแพทย์แผนไทยหรือผู้ช่วยแพทย์แผนไทยคอยดูแล ตรวจวินิจฉัย ประเมินอาการว่ามีข้อห้ามนวดหรือไม่ จะปลอดภัยกว่า เพราะร้านนวดเพื่อสุขภาพทั่วไป จะผ่านการอบรมมา 150 ชั่วโมง หลายอย่างก็ไม่รู้ และหากผู้ที่จะใช้บริการไม่รู้อีก ต่างคนต่างไม่รู้ก็ย่อมเสี่ยงอันตราย ยิ่งในคนมีโรคประจำตัวยิ่งต้องระมัดระวัง

ข้อห้ามก่อนการนวดหลักๆ ได้แก่

1.มีโรคประจำตัวหรือไม่ ทั้งโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยผู้ป่วยต้องรู้ตัว และหากจะนวดต้องไปที่คลินิกหรือสถานพยาบาลแพทย์แผนไทยที่มีแพทย์แผนไทยคอยให้บริการ เนื่องจากจะมีการตรวจวินิจฉัย และประเมินอาการก่อนว่าควรนวดหรือไม่ เนื่องจาก หากไปนวดกับผู้ไม่รู้ อาจไปกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดมากจนเกินไป ทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้น และอาจได้รับผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่เดิม เสี่ยงเกิดอันตรายได้ เพราะอย่าลืมว่าร้านนวดทั่วไป คนที่มาให้บริการนวดนั้นจะผ่านการอบรมมา 150 ชั่วโมง ไม่มีความรู้ความชำนาญในการประเมินโรคได้ แต่หากเป็นคลินิกแพทย์แผนไทย จะมีแพทย์แผนไทยที่ผ่านการเรียนมา 4 ปี มีใบประกอบโรค ขณะที่ผู้ให้บริการนวด หรือหมอนวดก็เป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ผ่านการอบรมหลักสูตรมาอย่างต่ำ 330 ชั่วโมงขึ้นไป

อย่างคนที่มีภาวะความดันโลหิตสูงก็ควรหลีกเลี่ยง แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรณีว่าความดันโลหิตสูงเท่าไหร่ มีโรคอะไร หรือมีภาวะอาการอย่างไร แพทย์แผนไทยจะวินิจฉัยโรคและประเมินก่อนว่าควรนวดหรือไม่ เพราะอย่างบางคนรู้สึกตึงคอ บ่าไหล่ หรือไหล่ติด แพทย์แผนไทยก็อาจประเมินว่านวดได้ในระดับไหน และจะไม่นวดตรงจุดที่จะไปกระตุ้นให้ความดันสูง เป็นต้น ดังนั้น จึงแนะนำว่าผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

2.หญิงตั้งครรภ์ อย่างที่เคยเตือนไปก่อนหน้านี้ว่า หญิงตั้งครรภ์ตามหลักแพทย์แผนไทย สมัยก่อนจะมีการนวดเรียกว่านวดกล่อมท้อง แต่ไม่ใช่ว่านวดได้หมด ต้องเป็นหมอนวดเชี่ยวชาญจริงๆ เพราะการนวดกล่อมท้องจะมีรายละเอียดมาก และเป็นการนวดแบบจัดท่าเด็กให้คลอดง่าย จะมีข้อห้ามไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือ 6 เดือนเป็นต้นไป

สรุป คือ หญิงตั้งครรภ์จะนวดได้หรือไม่

ตอบว่า นวดได้ เพียงแต่ต้องเลือก เพราะเมื่อท้อง ร่างกายเราเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงกระทบกระเทือนต่อสุขภาพได้ จึงต้องเลือกอย่างเหมาะสม
หากอายุครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึง 3 เดือน ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะกระตุ้นให้แท้งลูกได้ เพราะจะกระตุ้นให้มดลูกรัดตัว เสี่ยงแท้งลูกได้

ช่วง 3 เดือนแรกต้องยกเว้นอย่านวด ส่วนอายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป มดลูกจะไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงไปกดในท้อง ในลำไส้ ก็ไม่ควรไปนวด

รวมทั้งกรณีผู้หญิงที่มีประจำเดือน ก็ต้องระมัดระวังด้วย อย่างหากมีประจำเดือนวันแรกๆ หากไปนวด ก็จะยิ่งกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เลือดจะมามากขึ้น และอาจมานานกว่าปกติ 1-2 วัน ผลข้างเคียงคือ อาจทำให้อ่อนเพลีย บางคนร่างกายไม่แข็งแรง ก็จะไข้ขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะให้หลีกเลี่ยง

3.ผู้ที่มีภาวะบาดเจ็บต่างๆ หรือแม้แต่ปวดขา หรือล้ม อย่างกรณีก่อนหน้านี้ที่มีข่าวคนร่างกายแข็งแรง เล่นฟุตบอลเป็นประจำ แต่บาดเจ็บบริเวณขา เดินกะเผลก และเมื่อไปนวดเท้า นวดขา จนมีอาการช็อกและเสียชีวิตนั้น ตรงนี้เสี่ยงมาก เพราะหากบาดเจ็บที่ขา หลายครั้งผู้นวดก็ไม่รู้ ไม่ได้ถาม คนไปนวดก็ไม่รู้ เข้าใจว่าไม่สบาย แต่อยากสบายตัวไปนวด ปรากฏว่าไปนวดถูกลิ่มเลือดที่ขา ก็ยิ่งไปกระตุ้นและวิ่งไปอุดตันขั้วปอด ตรงนี้อันตรายมาก

“ดังนั้น เราต้องทราบตัวเองด้วย หากป่วยอยู่ ไม่สบายตัว หรือบาดเจ็บอยู่ อย่าไปนวดเลย ยิ่งร้านนวดทั่วไป เขาไม่รู้ เราไม่รู้ ก็กลายเป็นไม่รู้กันหมด มีความเสี่ยงหมดŽ” นพ.ขวัญชัย กล่าว

การนวดเป็นศาสตร์ที่มีมาแต่โบราณในการนวดบำบัดรักษา นวดเพื่อผ่อนคลาย แต่ทางที่ดีที่สุดเพื่อความปลอดภัย เราต้องรู้จักหาความรู้ และหากมีโรคประจำตัว หรือมีภาวะเสี่ยงข้างต้น แต่อยากนวด ควรไปปรึกษาคลินิกหรือสถานพยาบาลแพทย์แผนไทยที่มีแพทย์แผนไทยคอยตรวจวินิจฉัย ประเมินอาการก่อนจะดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image