บางเขน ‘ฝุ่นพิษ’ พุ่ง รองผู้ว่าฯ กทม.สั่งผู้รับเหมาแก้ไขใน 15 วัน

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะลงพื้นที่ตรวจโรงงานผสมคอนกรีต (แพล้นปูน) จำนวน 5 แห่ง ในพื้นที่ถนนสุขาภิบาล 5 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม. ภายหลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านหมู่บ้านชัยพฤกษ์รามอินทรา ว่า ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ โดยเชิญผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัท น่ำเฮง คอนกรีต จำกัด บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด บริษัท เอเชียผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ จำกัด บริษัท ฉัตรธงชัยคอนกรีต จำกัด และ บริษัท เอ็มคอนกรีต จำกัด หารือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะที่มีชาวบ้านในพื้นที่จำนวนหนึ่งเฝ้าสังเกตการณ์พร้อมทั้งร้องเรียนปัญหาต่อผู้บริหาร กทม.

นายสกลธี กล่าวว่า ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบจากโรงงานผสมคอนกรีต ภายในถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 13 จำนวน 5 แห่ง มีไซโลปูนสูงเกิน 20 เมตร (ม.) จำนวน 16 ไซโล และประกอบกิจการผสมคอนกรีตทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน PM10 โดยหลายคนเป็นโรคทางผิวหนัง มีผื่นแดงตามร่างกาย และป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ขณะนี้จึงให้ผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยเข้มงวดในการล้างโม่และล้อรถบรรทุกดินและคอนกรีตทุกครั้ง ติดตั้งสปริงเกอร์บริเวณไซโลให้ชุ่มเสมอ และติดตาข่ายรอบโรงงานเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย กำหนดให้ทั้ง 5 บริษัท แก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้

Advertisement

“หลังจากนี้จะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจวัดคุณภาพและค่าฝุ่นละอองต่อเนื่อง พร้อมให้รายงานผลต่อผู้บริหาร กทม.ทุก 15 วัน อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จะพิจารณายกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ประเภทหน่วยคอนกรีต หิน ดิน ทราย ผสมเสร็จ ซึ่งจะมีการต่อใบอนุญาตแบบปีต่อปี ขณะเดียวกัน ได้กำชับผู้บริหารกลุ่มกรุงเทพเหนือ ประกอบด้วย จตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม และบางเขน สำรวจในพื้นที่ว่ามีปัญหาในลักษณะดังกล่าวด้วยหรือไม่” นายสกลธี กล่าว

ด้านนายสมบูรณ์ หอนนาน ผู้อำนวยการเขตบางเขน กล่าวว่า โรงงานผสมคอนกรีตยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งครั้งแรก เมื่อปี 2556 จำนวน 1 แห่ง ต่อมาขอยื่นใบอนุญาตจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง และมีอีก 1 แห่ง อยู่ระหว่างพิจารณาใบอนุญาต ทั้งหมดเป็นการขอตั้งชั่วคราว เพื่อส่งงานให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และก่อนพิจารณาอนุญาต บริษัทได้มีการจัดทำสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image