‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ วิพากษ์ ‘รัฐสวัสดิการ’ งบสาธารณสุข ‘พอ’ แต่จัดสรรไม่เป็น

หมายเหตุ-ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งนี้ ประเด็น “รัฐสวัสดิการ” เป็นอีกเรื่องสำคัญที่พรรคการเมืองมักหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ดังเช่น “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ระบุถึงสวัสดิการด้านสาธารณสุข เขายืนยันว่า ทุกวันนี้งบประมาณด้านสาธารณสุข “เพียงพอ” แต่ปัญหาของประเทศนี้คือ ยังจัดสรรทรัพยากรให้เฉพาะ “คนที่รวย” และ “คนที่รวยมาก”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ธนาธร บอกว่า พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับโครงสร้าง “รัฐสวัสดิการ” เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของชีวิตประชาชน โดยเชื่อว่าถ้าประชาชนไม่มั่นคง ประเทศจะเดินหน้าไปไม่ได้ แล้วที่ผ่านมา การบริหารงานของรัฐส่วนใหญ่ ไม่ได้นำไปใช้เพื่อ “ประชาชน” แต่นำไปใช้เพื่อ “นายทุน”

“ผมพูดได้เลยว่าระบบเรา จะเรียกว่า “นายทุนนิยม” ก็ได้ แต่พอมาประชานิยม ก็บอกกันว่าประเทศชาติมันจะพังทลาย แต่พอเราจัดสรรงบประมาณไปเอื้อให้กลุ่มทุน ไม่เห็นจะมีใครพูดอะไรเลยว่านี่เป็น นายทุนนิยม ผมเชื่อว่าเรามีทรัพยากรเพียงพอ ที่จะดูแลเยาวชน ที่จะดูแลคนป่วย คนชรา ในประเทศนี้ เพียงแต่ว่าต้องจัดสรรทรัพยากรเสียใหม่ เพียงแต่ต้องตั้งหลักว่า ทรัพยากรของชาติ ต้องเอาไปให้คนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น เราเชื่อว่า การสร้างรัฐสวัสดิการ ทำให้คนมีชีวิตมั่นคงขึ้นได้ เป็นเรื่องที่ทำได้” ธนาธรกล่าว
เมื่อถามว่า รัฐบาลก่อนหน้านี้ มักจะพูดว่าพร้อมทำรัฐสวัสดิการทันที แต่พอเป็นรัฐบาลจริง กลับทิ้งให้หายไป ธนาธรกล่าวว่า ยังมองไม่เห็นเหตุผลว่า จะทำไม่ได้

“ถ้าจะทำ ผมคิดว่าต้องทำไป 3 ส่วนควบคู่กัน 1.เรื่องเศรษฐกิจ เราต้องทำให้เศรษฐกิจกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง 2.ความมั่นคงของมนุษย์ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติต้องมั่นคงมากขึ้น และ 3.ปฏิรูปการเมือง ก็ต้องทำ ทำแบบแยกส่วนไม่ได้ ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด หลายพรรคการเมืองบอกจะทำแค่เศรษฐกิจ หลายพรรคการเมืองจะทำแค่สวัสดิการ เราก็บอกว่า เฮ้ย! โครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นธรรม นี่คือปัญหาของการพัฒนาประเทศ ดังนั้นต้องทำด้วย ทำ 2 อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องสวัสดิการ พร้อมกับต้องปฏิรูปทหารด้วย ปฏิรูปศาล ปฏิรูปรัฐธรรมนูญด้วย ไปพร้อมๆ กัน” ธนาธร ระบุ

Advertisement

ทั้งนี้ ธนาธร ยังกล่าวว่า รัฐสวัสดิการที่พรรคเน้นเป็นพิเศษ ขณะนี้อยู่ในนโยบายของพรรคเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เรื่องเยาวชน เรื่องปฏิรูปประกันสังคม การดูแลคนชราที่ต้องทำให้มากขึ้น ก็อยู่ในนโยบายพรรคเรียบร้อย

“เรียกว่าทำตั้งแต่ในครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน โดยที่ไม่เสียวินัยทางการคลัง นั่นหมายความว่า เราต้องจัดสรรทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์กับคนรวยมาเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนที่มีรายได้น้อยมากขึ้น”

ถามว่าถ้าจะต้องมีการร่วมจ่าย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินไม่พอ ธนาธรบอกว่า อย่างที่บอก คำว่า “เงินไม่พอ” เป็น “มายาคติ” “คุณเงินไม่พอใช่ไหม คุณเงินไม่พอที่จะทำโรงพยาบาลดีๆ แต่คุณเอาเงินไปต่อรถไฟฟ้าสายสีทองให้ไปหยุดอยู่หน้าไอคอนสยามได้ ใครได้ประโยชน์ ถ้าเราเอาเงินจำนวนเดียวกันไปสร้างโรงพยาบาลที่ดีกว่าในชุมชน ใครได้ประโยชน์

พอบอกว่าเงินไม่พอ คุณเอาเงินไปยกประโยชน์ให้กับคนที่ประมูลทีวีดิจิทัลได้ไป 1.7 หมื่นล้านบาท ดีเลย์การประมูลไป ลดดอกเบี้ย 7% กว่า ให้เหลือ 1.5% พร้อมกับยืดการจ่ายเงินค่าประมูล 1.7 หมื่นล้านบาท ลดค่าเช่าโครงข่ายอีก 50% คุณมีเงินไปสนับสนุนได้ ผมไม่เห็นมีใครออกมาพูดว่านี่ประชานิยมเลย ให้ประโยชน์คนไม่กี่คน คุณกลับไม่พูด แต่พอจะให้ความมั่นคงกับคนในประเทศเป็นสิบๆ ล้านคน ทุกคนจะเป็นจะตาย”

ดังนั้น อย่าพูดดีกว่าว่า เงินไม่พอ ปัญหาคือ เราจัดสรรทรัพยากรของประเทศนี้ให้กับคนรวย ให้กับคนรวยมาก
เมื่อพูดถึงเรื่องการรักษาฟรี ธนาธรบอกว่า เชื่อว่าคนทุกคนเท่ากัน ในอนาคตอาจจะต้องปรับเพิ่มบ้าง ก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่อย่างแรกที่สุด ต้องยืนยันหลักการ ความเชื่อที่ว่า ถ้าเราบริหารงบประมาณประเทศ 3.2 ล้านล้านบาท ให้ดี เชื่อว่าเพียงพอ และทำดีกว่านี้ได้

แต่เมื่อโต้แย้งว่า ปัจจุบันระบบยังมีปัญหา คือ เงินอยู่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่เจ้าของโรงพยาบาล คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ธนาธร กล่าวว่า เวลาพูดถึงระบบสาธารณสุข เราไม่ได้พูดถึงงบประมาณอย่างเดียว

“ดังนั้น ต้องกลับไปจัดการโครงสร้างด้วย งบประมาณหลัก คุณเอามากระจายให้กับโรงพยาบาลใหญ่ทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.ธรรมศาสตร์ ฯลฯ โรงพยาบาลพวกนี้ได้งบการลงทุนมหาศาล ขณะที่โรงพยาบาลระดับอำเภอ โรงพยาบาลต่างจังหวัด สถานที่ไม่พอ แออัดไปหมด”

ธนาธรเสนอแนะว่า วิธีที่ต้องทำคือ โรงพยาบาลต้องใกล้ชิดกับชุมชน กับท้องถิ่นมากขึ้น เพราะท้องถิ่นรู้จักกับประชาชนของเขา

“คนไหนป่วย คนไหนป่วยเรื้อรัง มีปัญหาสุขภาพอย่างไร ท้องถิ่นรู้ เอาโรงพยาบาล เอาระบบสาธารณสุข ไปให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารมากขึ้น การจัดการ ประสิทธิภาพจะเร็วขึ้น คุณเคยได้ยินไหม หมอ-พยาบาล ทำงานไป 60 วันแล้ว ยังไม่ได้เงินเดือน ทำไม ก็มันไม่รู้จักคน การจัดการเงินมันไม่มีประสิทธิภาพ ดึงอำนาจ-ดึงงบประมาณ ไปให้ท้องถิ่นบริหารมากขึ้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ก็ต้องอยู่ที่ท้องถิ่น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข”

ธนาธรกล่าวว่า ที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ระบบราชการเป็นปัญหาหนึ่งที่นักการเมืองคนไหนเข้ามา ก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่ในความเห็นของพรรคอนาคตใหม่ คิดว่าเป็นเพราะขาดเจตจำนงมากกว่า

“หลายคนที่พูดเรื่องนี้ว่า ระบบราชการเปลี่ยนไม่ได้หรอก ไอเดียผมคือไม่กล้าแตะต้องปัญหาที่โครงสร้าง ไม่มีเจตจำนงที่แน่วแน่พอ เรื่องการทำลายทุนผูกขาด หลายคนบอกว่ายาก ผมคิดว่าไม่ยาก เขาแค่ขาดเจตจำนงที่แน่วแน่ นี่เป็นเรื่องใหญ่ ผมยืนยันว่า ทำลายทุนผูกขาด-ปฏิรูปทหาร นั้นไม่ยาก แค่คุณขาดเจตจำนงที่แน่วแน่ ปัญหาคือ ที่ผ่านมา ไม่มีใครกล้าทำ เพราะคุณเป็นส่วนหนึ่งของมัน เพราะระบบอุปถัมภ์ ทุนผูกขาด ระบบอุปถัมภ์ ผู้นำในกองทัพ แล้วก็นักการเมืองบางคนบางพรรค เป็นส่วนหนึ่งในระบบนี้ แล้วคุณบอกให้เขากระจายอำนาจ เขาจะกระจายทำไม เพราะอำนาจมันเป็นอำนาจของเขา กระจายงบประมาณ เขาจะกระจายทำไม งบประมาณอยู่ส่วนกลางดีแล้ว เขามีสิทธิออกแบบจัดสรร” ธนาธรกล่าว

และย้ำว่า เรื่องพวกนี้ ไม่ได้ยาก แต่ยังขาด “นักการเมือง” และ “รัฐบาล” ที่มีเจตจำนงมุ่งมั่นแน่วแน่พอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image