‘ฝุ่นพิษ’ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลลด อากาศคลี่คลายเข้าสู่ฤดูร้อน เหนือ-อีสานยังอ่วม

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่า ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ลดลงจากเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ทุกพื้นที่ โดยมีค่าฝุ่นละอองเฉลี่ย 12-33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยปริมาณฝุ่นละอองยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.ทุกพื้นที่

ทั้งนี้ นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดี คพ. เปิดเผยว่า ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งหน่วยงานต่างต่างๆยังปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้น ซึ่งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์  คพ.ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ตรวจสอบตรวจจับรถควันดำตามมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ บริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม เขตลาดพร้าว และ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง เรียกรถตรวจสอบควันดำรวม 179 คัน ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 จำนวน 129 คัน พบรถควันดำเกินมาตรฐาน 19 คัน และรถยนต์ขนาดเล็กตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำนวน 50 คัน ควันดำเกินมาตรฐาน 8 คัน พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราวกับรถที่มีควันดำเกินมาตรฐานเป็นเวลา 30 วัน และยังดำเนินการตรวจสอบตรวจจับรถควันดำ ไปอย่างต่อเนื่อง

นายประลอง กล่าวว่า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าในในเรื่องฝุ่น PM2.5 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) จัดเสวนาทางวิชาการ “สาเหตุและผลกระทบ PM2.5 ต่อความมั่นคงและสุขภาพของคนไทย” จัดโดยชมรมศิษย์เก่าหลักสูตรการบริหารจัดการความมั่นคงขั้นสูง (ศมส.) และได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายร่วมกับอธิบดีกรมอนามัย และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเผยแพร่สาเหตุและผลกระทบของมลพิษทางอากาศอันเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่มีต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของชมรม ศมส. และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์แก่สังคม

Advertisement

อธิบดี คพ. กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กจะคลี่คลายและลดลงในช่วงนี้ ซึ่งนอกจากมลภาวะอากาศที่จะกลับเข้าสู่ฤดูร้อน แต่ด้วยการทำงานในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กของส่วนราชการ ทุกภาคส่วน เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) บก.จร. สตช. กรมการขนส่ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมฝนหลวง กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม ขสมก. ภาคเอกชนทุกฝ่าย รวมทั้ง 5 จังหวัดปริมณฑล ซึ่งทุกฝ่ายได้ทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างเต็มกำลังความสามารถ จึงเป็นปัจจัยหลักอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจะลดลงในช่วงนี้ แต่หน่วยงานทุกหน่วยงานดังกล่าวก็ยังดำเนินการอย่างเข้มข้นในทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีให้ทุกฝ่ายเร่งรัดและป้องกันอย่างเต็มกำลังความสามารถรวมทั้ง ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ให้มีการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 ให้เป็นวาระแห่งชาติ

นอกจากนี้ นายประลอง กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้วยยูโร 5 (EURO 5) และระบุว่าน้ำมันบี 20 (B20) ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานและรับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยทั่วไป ซึ่งใช้ได้กับรถบรรทุกรุ่นเก่าเท่านั้น และการมีชนิดของน้ำมันมากเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น และสุดท้ายก็จะผลักภาระมาให้ผู้บริโภค ทำให้เราต้องจ่ายค่าน้ำมันที่แพงขึ้น นอกจากนี้ อนาคตหากน้ำมันปาล์มปรับราคาขึ้น แต่ปรับราคาน้ำมันไบโอดีเซลหน้าปั๊มไม่ได้ ก็ต้องน้ำเงินจากกองทุนน้ำมันไปอุดหนุน ซึ่งก็จะซ้ำรอยการอุดหนุนแก๊สโซฮอล E85 แม้ว่าล่าสุดผู้ผลิต รถยนต์ 9 ค่ายจะตอบรับความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในการผลิตรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ภายใน 1-2 ปี และยูโร 6 ภายใน 3 ปี แต่ปัจจุบันรถยนต์ที่มีมาตรฐานต่ำกว่ายูโรยังมีใช้ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

Advertisement

“ดังนั้น หัวใจสาคัญของการแก้ปัญหาฝุ่น ขณะนี้อยู่ที่เครื่องยนต์ รถจะเก่าหรือใหม่หากเช็คสภาพสม่ำเสมอ ก็สามารถลดมลพิษในอากาศได้” นายประลอง กล่าวและว่า คพ.ได้คาดการณ์สถานการณ์จากแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ของ คพ. คาดว่าในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ปริมาณฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่จากการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นละอองของหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จะช่วยให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ เมื่อเวลา 09.00 น.วันเดียวกัน คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 30 – 65 มคก./ลบ.ม. ฝุ่น PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 41 – 92 มคก./ลบ.ม. มาตรฐานยังไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม. โดย จ.เชียงใหม่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง 52 มคก./ลบ.ม. จ.ลำพูน ต.บ้านกลาง 65 มคก./ลบ.ม. ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมือง 69 มคก./ลบ.ม. คพ.ได้ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ งดการเผาในที่โล่งเพื่อป้องกันการเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางเว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th และ แอพลิเคชั่น Air4Thai

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image