‘วันการได้ยินโลก’ เรื่องของหู ใครคิดว่าไม่สำคัญ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายสถาบันการแพทย์ต่างๆ ร่วมแถลงข่าว “วันการได้ยินโลก 2562  World Hearing Day Thailand 2019”  พร้อมทั้งจัดเสวนาให้ความรู้เรื่อง สถานการณ์ปัญหาโรคหูในประเทศไทยและการได้ยินในเยาวชนไทย รวมถึงความสำคัญของ World Hearing Day Thailand 2019 ณ ชั้น 14 ระเบียงรมณีย์ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล  ที่ปรึกษามูลนิธิหู คอ จมูกชนบท กล่าวว่า งาน World Hearing Day 2019  ทางองค์การอนามัยโลกมุ่งเน้นเรื่องของการตรวจพบปัญหาการได้ยินและฟื้นฟูการได้ยินตั้งแต่ระยะแรก (early identification and intervention for hearing loss)  จึงกำหนดธีมงาน “Check your hearing” โดยมี Key message คือ ประชาชนควรตรวจประเมินการได้ยินเป็นระยะๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี  ผู้ที่ทำงานในที่เสียงดัง  สำหรับการจัดงาน World Hearing Day มีขึ้นตั้งแต่ปี 2007 โดยใช้ชื่องานว่า International Ear Care Day  และได้เปลี่ยนเป็น World Hearing Day อย่างไรก็ตาม จากรายงานสถานการณ์ปัญหาการสูญเสียการได้ยินในประเทศไทย จากรายงานสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561) พบว่าการออกบัตรประจำตัวคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายมากเป็นอันดับ 2 (375,680 คน; 18.41%) รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย (1,015,955 คน; 49.77%) อายุที่มากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินสูงขึ้นตามไปด้วย  อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้เป็นจำนวนเฉพาะผู้ที่มารับการจดทะเบียนคนพิการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัญหาการได้ยินลดลงในประชากรไทยมีประมาณ 2.7 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับจำนวนประชากรจังหวัดนครราชสีมา หากเราไม่รีบป้องกันและแก้ไข ในอนาคตคนไทยทุกๆ 10 คน อาจจะพบผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน 1 คน

นพ.ศัลยเวทย์ กล่าวว่า สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินมีหลายประการเช่น การอักเสบติดเชื้อของหูหรือเยื่อหุ้มสมอง  ศีรษะได้รับการกระทบกระแทกรุนแรง การสัมผัสเสียงดังๆ การเสื่อมสภาพตามอายุ หรือยาบางชนิดมีฤทธิ์ทำลายหูชั้นใน เป็นต้น  เมื่อก่อนหูน้ำหนวกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีปัญหาสูญเสียการได้ยิน  แต่ปัจจุบันเมื่อยาปฏิชีวนะดีขึ้นการเข้าถึงระบบสาธารณสุขดีขึ้นทำให้ปัญหาหูน้ำหนวกลดลง  ประกอบกับพฤติกรรมคนเราเปลี่ยนไป มีการใส่หูฟังมากขึ้น มีการแสดง concert ต่างๆ การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมอื่นๆ ที่มีเสียงดัง ทำให้สาเหตุการสูญเสียการได้ยินเปลี่ยนไป นอกจากนี้คนเรามีอายุยืนมากขึ้นประสาทหูเสื่อมจากอายุก็พบมากขึ้นด้วย  แต่กลับพบว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาการสูญเสียการได้ยินหรืออันตรายจากการสัมผัสเสียงดัง และไม่เคยได้รับการตรวจการได้ยิน  ซึ่งถ้าประสาทหูเสื่อมแล้วจะไม่มีทางแก้ไขให้เป็นเหมือนเดิมได้  ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะตระหนักถึงความสำคัญของการสูญเสียการได้ยินและพยายามหาทางป้องกัน

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 กล่าวว่า ปัญหาการได้ยินในเด็กไทยและนโยบายการตรวจประเมินการได้ยินในทารก ในอดีตปัญหาการสูญเสียการได้ยินในเด็กนั้น กว่าจะรู้ว่ามีปัญหาก็อายุ 2-3 ปีไปแล้วเนื่องจากเด็กไม่ยอมพูด  ซึ่งกว่าเด็กเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยและฟื้นฟูการได้ยินก็ช้ามาก หรือบางครั้งอาจไม่ได้รับการฟื้นฟูเลยก็มี  ทำให้เด็กมีปัญหาด้านภาษาและการสื่อสาร อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ตามมาด้วย   ปัจจุบันการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดทำในหลายโรงพยาบาล และประชาชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาการได้ยินมากขึ้น ปัจจุบันราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเรื่องการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกคลอดเป็นหนึ่งในโครงการทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองภาวะบกพร่องทางการได้ยินในทารกแรกคลอด และให้ทารกที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในช่วงเวลาที่เหมาะสม

Advertisement

สำหรับเด็กมีวิธีที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตพัฒนาการทางการได้ยินของบุตรหลานได้ดังนี้

  1. ระยะแรกเกิด – 3 เดือน
  • มีอาการสะดุ้งตกใจ หรือร้องไห้ เมื่อได้ยินเสียงดังๆ
  • มีการเล่นเสียงในลำคอ
  1. ระยะ 3-6 เดือน
  • ทำท่าคล้ายหยุดฟัง เมื่อพ่อแม่มาคุยกับเด็ก
  • มีการกลอกตาหรือหันหาที่มาของเสียงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเด็ก แม้จะป็นเสียงเบาๆ
  • เด็กจะออกเสียงคล้ายพยัญชนะและสระรวมกัน เช่น กากา บาบา
  1. ระยะ 6-9 เดือน
  • เด็กจะหันศีรษะไปมาเพื่อหันหาเสียงเรียกได้
  • เด็กจะออกเสียงพยัญชนะและสระได้มากขึ้น โดยทำเสียงติดต่อกันยาวๆได้ 4-6 พยางค์ เช่น ลาลา ลาลา บาคาบาคา
  1. ระยะ 9-12 เดือน
  • เด็กมีการเล่นเสียงยาวต่อเนื่องคล้ายคำพูดที่เป็นประโยคยาวๆในการโต้ตอบสื่อสาร
  • เด็กทำตามคำสั่งง่ายๆได้ เช่น สวัสดี บ๊ายบาย
  • เด็กพูดคำแรกซึ่งฟังคล้ายกับคำพูด เช่น แม่ หม่ำ ไป
  1. ระยะ 12-18 เดือน
  • เด็กสามารถหันหาเสียงได้ถูกต้อง
  • เด็กเริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย 1 พยางค์ โดยเด็กสามารถพูดได้อย่างน้อย 10-15 คำ เช่น พ่อ แม่ แมว นม เอา ไป ไม่
  1. ระยะ 18-24 เดือน
  • เด็กสามารถทำตามคำสั่งง่ายๆได้ ชี้อวัยวะได้อย่างน้อย 2 อย่าง ชี้สิ่งของที่คุ้นเคยได้
  • เด็กพูดได้ประมาณ 40-100 คำ และเริ่มพูดเป็นวลีสั้นๆ เช่น เอามา ไม่ไป

ถ้าหากผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานของท่านมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า ไม่สมวัย ควรรีบนำบุตรหลานมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจประเมิน วินิจฉัยที่เหมาะสม และ เข้ารับการรักษาฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว

ศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์  ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทยและประธานจัดงาน World Hearing Day Thailand 2019 กล่าวว่า ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันทางการแพทย์ และมูลนิธิหู คอ จมูกชนบท จัดงานวันการได้ยินโลก ประเทศไทย 2562 หรือ World Hearing Day Thailand 2019 ในวันที่ 3 มีนาคม 2562 เวลา 7.00-13.00น. ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการสูญเสียการได้ยิน ให้ความรู้เกี่ยวการตรวจประเมินการได้ยิน และการคัดกรองการได้ยินในเด็ก  ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการได้ยิน และให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางป้องกันอันตรายจากเสียง โดยกิจกรรมในวันงาน อาทิ การเสวนาให้ความรู้เรื่อง ความสำคัญของการได้ยินและการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน   นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับการได้ยิน อาทิ กายวิภาคของหูและกลไกการได้ยินเสียง การได้ยินบกพร่องในทารกแรกคลอด  การนำเสียงบกพร่องและการแก้ไข  ประสาทหูเสื่อม  ประสาทหูเสื่อมฉับพลัน  ภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียง  เครื่องช่วยฟัง  ยาที่ส่งผลกระทบต่อหู ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02 256 4103 (ในวันเวลาราชการ)

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image