วาฟชี้ แล้งนี้ 3 จังหวัด 4 เขื่อนใหญ่ น่าห่วง ฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 40%

วาฟชี้ แล้งนี้ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศีรษะเกษ น่าห่วง ฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 40% เขื่อนอุบลรัตน์ แม่มอก ทับเสลา กระเสียว น้ำใช้การต่ำกว่า 30%

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ว่าทุกพื้นที่มีค่า PM2.5 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ โดยมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก. ต่อ ลบม.) คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับดีมาก-ดี โดยพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นสีฟ้า (37 พื้นที่) และมีพื้นที่สีเขียว (5 พื้นที่) แสดงว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมาก-ดี

อธิบดีคพ.กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ มลพิษในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นั้น จากโมเดลคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ลมส่วนใหญ่ยังคงเป็นลมฝ่ายใต้ และมีกำลังแรง ระดับเพดานการผกผันของอุณหภูมิ   ยังขยายสูงขึ้น ส่งผลให้การไหลเวียนของอากาศยังดีต่อเนื่อง และในวันนี้จะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้ามาปกคลุมภาคอีสาน ทำให้มีฝน ถึงฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ร้อยละ 10 ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลดีต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง ช่วยบรรเทาปัญหา PM2.5 และจากการดำเนินมาตรการในการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองของหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มงวด จะทาให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานต่อไป

ทางด้าน แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยถึงข้อมูลน้ำ และน้ำฝน ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ไปจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม นั้น วาฟคาดว่า ฤดูแล้งในปีนี้ ภาคอีสานตอนล่างจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากในฤดูฝนที่ผ่านมามีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 40% โดยเฉพาะ พื้นที่ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศีรษะเกษ และบางส่วนของ จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา และ จ.เลย โดยปริมาณน้ำฝนระเทศไทยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1,467 มิลลิเมตร แต่ในฤดูฝนที่ผ่านมาพื้นที่ ดังกล่าวมีฝนตกเพียงแค่ 800-900 มิลลิเมตร เท่านั้น ทำให้น้ำต้นทุนสำหรับหน้าแล้งนี้ มีน้อยมาก

Advertisement

วาฟระบุอีกว่า สำหรับน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่เหลือน้ำใช้อยู่ต่ำกว่า 30% ในขณะนี้ คือ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 29 เป็นน้ำใช้การได้จริง 126 ล้านลูกบาศก์เมตร  เขื่อนทับเสลา มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 25 เป็นน้ำใช้การได้จริง 24 ล้านลูกบาศก์เมตร  เขื่อนกระเสียว มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 23 เป็นน้ำใช้การได้จริง 28 ล้านลูกบาศก์เมตร และ เขื่อนลำนางรอง มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 31 เป็นน้ำใช้การได้จริง 35 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนการคาดการณ์ฝนในฤดูแล้งปีนี้ “ลักษณะของฝนในปี 2562 จะคล้ายกับปี 2550 คือ ปริมาณน้ำฝนในฤดูแล้ง จะน้อยกว่าค่าปกติ หมายความว่า ฤดูแล้งที่ปกติจะมีพายุฤดูร้อนมาเติมน้ำให้อยู่บ้าง เช่น เมื่อปีที่ผ่านมา ช่วงฤดูแล้ง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในเดือนเมษายนถึง 5 ครั้ง นั้น ปีนี้จะมีพายุฤดูร้อนจะมีน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งน้ำฝนจากพายุฤดูร้อนจะสามารถเข้ามาเติมปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆได้ แต่ปีนี้อาจจะมีน้อย เพราะเป็นช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ กระแสลมแปซิฟิคจะพัดมาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อย และอุณภูมิโดยทั่วไปจึงสูงกว่าปีที่ผ่านมา”วาฟระบุ

วาฟระบุ อีกว่า เดือน มีนาคม-เมษายน ปี 2562 นี้ ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยจะน้อยมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยปีที่แล้ว เดือนเมษายนเดือนเดียวมีปริมาณน้ำฝนตกใน กทม. สูงถึง 400 มิลลิเมตร ที่ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

Advertisement

เมื่อถามว่า ทำไมหลายวันที่ผ่านมาท้องฟ้าในหลายๆพื้นที่ ทั้งกรุงเทพและปริมณฑลครึ้ม แต่ฝนกลับไม่ตก นักวิเคราะห์ แบบจำลอง วาฟ-รอม ตอบคำถามว่า ฝนตกในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มาจากการเหนี่ยวนำของกระแสลมตะวันตกในระดับลมชั้นบน มาเหนี่ยวนำให้ความชื้นยกตัวขึ้น ส่วนลมหนาวหรือลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดมาแรงไม่มาก ซึ่งก็คือ ความกดอากาศสูงไม่ค่อยแข็งแรงพอ หรือ มีกำลังไม่ต่อเนื่อง แทนที่จะส่งลมตะวันออกเฉียงเหนือมาพัดสอบกับลมใต้ที่พัดมาจากอ่าวไทย ลมจึงไม่แรงพอ ที่จะทำให้เกิดฝน ได้แค่ท้องฟ้ามืดครึ้มเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image