เปิดมาตรฐาน ‘บริษัทร่วมทุน อภ.’ ยกระดับการผลิตสมุนไพรไทย

“สิ่งสำคัญคือผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องผ่านมาตรฐานการผลิตที่ดี เพราะหากการผลิตไม่ได้คุณภาพ อาจมีการปนเปื้อนต่างๆ ได้ แต่ปัญหาคือ หากผู้บริโภคเลือกซื้อสมุนไพรที่ราคาถูกๆ นอกจากเสี่ยงได้รับสมุนไพรไม่ได้มาตรฐานแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดวงจรอุบาทว์ ในการผลิตด้วยวิธีการถูกๆ ด้วย ดังนั้น ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็ต้องเอื้อต่อกันด้วยŽ ภก.สุวิทย์ ธีรกุลชน ผู้อำนวยการ บริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวรายงานกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้แก่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมคณะที่เดินทางเข้าศึกษาดูงานที่บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเร็วๆ นี้

ภก.สุวิทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย และเป็นการทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2538 โดยมี อภ.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทมุ่งเน้นการผลิตที่ได้มาตรฐานตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด ที่สำคัญยังมุ่งเน้นเรื่องการเกษตรแบบออร์แกนิค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเราให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกสมุนไพร ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่การปลูก ปริมาณสารออกฤทธิ์ อย่างขมิ้นชัน เดิมเชื่อว่าขมิ้นชันที่ดีต้องเป็นสายพันธุ์จากสุราษฎร์ธานี เพราะมีสารออกฤทธิ์มากที่สุดในโลก แต่จากการพัฒนาสายพันธุ์โดย ผศ.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนได้ ขมิ้นชันŽ สายพันธุ์ที่ดีที่สุดและให้สารออกฤทธิ์มากที่สุดในชื่อ แดงสยามŽ ปรากฏว่าปริมาณสารออกฤทธิ์ต่างกัน โดยมากกว่าถึง 20 เท่า

Advertisement

นอกจากสายพันธุ์ที่ดีแล้ว กระบวนการเพาะปลูกก็สำคัญ โดยขั้นต่ำของการเพาะปลูกต้องผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP มีการสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกสมุนไพรตามหลักเกษตรอินทรีย์หรือแบบออร์แกนิค เพราะหากไม่เพาะปลูกด้วยวิธีการเช่นนี้ ก็มีโอกาสที่สมุนไพรที่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีโอกาสปนเปื้อนและรับสารพิษสูง ทั้งการปนเปื้อนตั้งแต่ในน้ำ ในดิน ยาฆ่าแมลง ไปจนถึงสารโลหะหนักต่างๆ

 

ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์นั้น เรามีโครงการ Contract Farming เพื่อพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร สู่มาตรฐานการผลิตสมุนไพรเกษตร โดยบริษัทได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และวิสาหกิจชุมชน ผลิตพืชอินทรีย์ โดยปลูกฟ้าทลายโจรและขมิ้นชันเป็นพืชนำร่อง ซึ่งเป็นโครงการเกษตรใหญ่ เกษตรกรสามารถรับพันธุ์พืชที่ดีจากกรมวิชาการเกษตร ส่วนการเพาะปลูกที่ดีและการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องจะได้รับคำแนะนำจากฝ่ายวิชาการของทางบริษัท ส่วนการเลือกพื้นที่ปลูกนั้น ได้มีการพิจารณาคัดเลือกและเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งไปส่งเสริมการปลูกสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีการแจกสายพันธุ์ แนะนำวิธีการเก็บเกี่ยว ซึ่งดำเนินการวิธีเช่นนี้มาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่ฟ้าทลายโจรและขมิ้นชัน ยังมีพุทธรักษาและมะหาดอีกด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการประกันคุณภาพทุกขั้นตอนของกระบวนการ ตั้งแต่การตรวจสอบสมุนไพร ณ แหล่งผลิตวัตถุดิบก่อนเข้ากระบวนการผลิตมาสู่กระบวนการผลิต จนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปก่อนออกจำหน่ายในท้องตลาด มีการควบคุมคุณภาพสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อควบคุมปริมาณสารสำคัญด้วย อีกทั้งยังมีการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ และคุณสมบัติที่ดีของผลิตภัณฑ์ขณะผลิต เช่น ความผันแปรของน้ำหนัก ความแข็ง ความกร่อน ความหนาของเม็ดยา และการกระจายตัวของยา และยังมีระบบตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อควบคุมสภาวะที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อทดสอบว่าไม่มีการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปก่อนออกจำหน่าย

อีกอย่างที่สำคัญคือ บริษัทมีการวิจัยทางคลินิกที่ดี คือ การเลือกสมุนไพรมาผลิต ไม่ใช่แค่มีข้อมูลว่า กินสมุนไพรตัวนี้แล้วดี แต่จะต้องมีผลการทดลอง ผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้ปริมาณมากน้อยแค่ไหน เท่าไร อย่างไร จึงจะได้ผลดี เพื่อดำเนินการผลิตได้อย่างถูกต้อง และแน่นอนว่าต้องมีมาตรฐานการผลิตที่ดี การผลิตจะต้องได้รับมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตยาแผนโบราณ และโรงงานผลิตอาหารจากสมุนไพร ส่วนเรื่องการจัดเก็บและขนส่ง จะต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการจัดเก็บวัตถุดิบสมุนไพร สารสกัด บรรจุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินค้าสำเร็จรูป โดยมีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อให้คงคุณภาพตลอดอายุสินค้า การจัดส่งต้องตรวจสอบจำนวนภาชนะบรรจุให้ถูกต้อง อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพื่อป้องกันการเสียหายของสินค้าจากการกระทบกันในขณะเคลื่อนย้าย และขนส่งโดยรถขนส่งที่มีความปลอดภัยจนถึงมือผู้บริโภค

ภก.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า แน่นอนว่าทั้งหมดเราได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นการการันตีว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพมาตรฐาน สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพได้

ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพการผลิตจนได้มาตรฐานที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง เกิดคำถามว่าหากในระดับรัฐวิสาหกิจจะทำได้หรือไม่ ภก.สุวิทย์กล่าวว่า การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระดับรัฐวิสาหกิจ ชุมชน ครอบครัว ระดับชาวบ้าน หรือโอท็อป จะยกระดับในการผลิตที่ดีอย่างไร เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในการควบคุมมาตรฐานการผลิตต่างๆ มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถทำได้ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย และประชาชนต้องสนับสนุนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตที่ดี มีคุณภาพตามไปด้วย มิเช่นนั้น หากมีการผลิตไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ยาสมุนไพรต่างๆ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว คนกินก็ไม่หาย จะกลายเป็นการทำลายวงการสมุนไพรไทยในอนาคต

นพ.สุรโชค กล่าวว่า อย.กำลังปรับปรุงระบบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งระบบให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. … ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยการจัดตั้งกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเร่งรัดให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับการพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตก่อนที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะออกสู่ท้องตลาดให้เหมาะสมกับบริบทของผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น
อีกตัวอย่างของการยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่ผ่านมาตรฐาน เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image