4พรรคใหญ่เห็นพ้อง ‘หลักประกันสุขภาพ’ ต้องไปต่อ ลงทุนเพื่อประชาชน ไม่ใช่ภาระ

หมายเหตุ – ในเวทีเสวนา ผ่าแนวคิดพรรคการเมือง อนาคตสุขภาพคนไทยŽ ที่โรงละครสยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ตัวแทนจาก 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ยืนยันว่า ไม่มีการ ร่วมจ่ายŽ ณ จุดบริการ ไม่สร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น และประเทศไทยไม่ขาดแคลนงบประมาณที่จะเดินหน้าโครงการ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากร ป้อนŽเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ และจะหาวิธีรักษาและพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรค พท. และหนึ่งในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพในปัจจุบัน คือ การจัดสรรงบประมาณแบบดูแลเมื่อเจ็บป่วย หรือ Sick Care แทนที่จะสร้างระบบประกันสุขภาพ หรือ Health Care อย่างที่พรรคไทยรักไทยตั้งใจไว้


“เมื่อเป็นซิกค์ แคร์ ก็คือ คนป่วยมาก จะได้งบมาก แบบนี้ตัวเลขเห็นชัด ใช้งบสูงขึ้น คนเจ็บป่วยก็มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งผิดหลักการที่เราควรจะมุ่งสู่การสร้างสุขภาพที่ดี โดยทั้งโรงพยาบาล และประชาชน ต้องร่วมกันสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ต้องแข็งแรง ก่อนป่วยŽ” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวและว่า พท.มีนโยบายชัดในการ คืนโรงพยาบาลให้ประชาชนŽ ให้โรงพยาบาลออกนอกระบบ ออกนอกการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะไม่มีใครจะสามารถดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะการป้องกันโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ ได้ดีเท่าโรงพยาบาลที่อยู่ในชุมชน

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ส่วนข้อถกเถียงเรื่อง ยุบรวมกองทุนสุขภาพŽ ที่ปัจจุบันมี 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยส่วนตัวคิดว่าไม่มีความจำเป็น หากแต่ต้องสร้างระบบให้ประชาชนที่ใช้สิทธิในแต่ละกองทุนได้รับการรักษา ยา และวิธีการบริการที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน ทั่วถึงทุกคน ก็เพียงพอแล้ว

Advertisement

“ต้องคุยกันว่า หลักการพื้นฐาน มีอะไรที่ควรจะครอบคลุม ส่วนประกันสังคมเขาจ่ายเพิ่ม อาจจะได้สิทธิพิเศษเพิ่ม เช่นเดียวกับข้าราชการ กระทรวง-ทบวง-กรม ก็อาจจะดูแลให้มีสิทธิพิเศษ เพราะบางโรค บางอาการ ยามีหลายแบบ ก็อาจให้เป็นสิทธิที่ท็อป อัพ (top up) ได้ แต่ยืนยันว่าคนที่อยู่ในกลุ่มนี้จะไม่เสียประโยชน์Ž คุณหญิงสุดารัตน์” ระบุ

ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. กล่าวว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีใจความสำคัญอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ 1.เป็นสิทธิที่ประชาชนต้องมี และ 2.ถ้วนหน้า ทุกคนสามารถใช้ด้วยกัน เสมอกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรมีระบบการ ร่วมจ่ายŽ ที่จะดึงนโยบายที่ก้าวหน้านี้ให้ถอยหลัง อนค.เห็นต่างจากพรรคการเมืองอื่น ที่จะไม่รวมกองทุนสุขภาพ โดยในอนาคต เห็นว่าเอนด์ เกม (End Game) ของระบบสาธารณสุขไทย คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบอยู่ที่ประมาณ 3,800 บาทต่อคนต่อปี ควรจะเข้าไปใกล้สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาทต่อคนต่อปี มากขึ้น และเมื่อเข้าใกล้กันแล้ว ก็ควรยุบรวมเป็นกองทุนเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ


“ถ้าเราเชื่อว่า ทุกคนปฏิบัติเท่าเทียมกัน อาจจะใช้เวลา 5 ปี 10 ปี แต่ในที่สุด ทุกคนควรจะเข้าสู่ระบบเดียวกันให้ได้”Ž นายธนาธร กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นายธนาธร กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอในการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบประมาณหลายอย่างเพื่อเอาใจนายทุน หรือกลุ่มนักธุรกิจในประเทศ แต่กลับลงทุนกับสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล หรือการศึกษาน้อยมาก


“การประกันสุขภาพถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองมากเกินไป เมื่อจะทำต่อ ถูกครหาว่าเป็นประชานิยม แม้แต่นายกรัฐมนตรี ก็พูดเสมอว่า จะเอาเงินที่ไหนดูแลคนป่วย ผมคิดว่า ต้องยอมรับว่าถ้านโยบายดี อย่าทำให้เป็นการเมือง อะไรที่ต้องพัฒนาต่อ ไม่ว่าจากพรรคไหน แนวคิดใคร ก็ควรทำให้ดีขึ้น”Ž หัวหน้าพรรค อนค.กล่าว และว่า นอกจากเรื่องงบประมาณ พรรคยังมีนโยบายปรับระบบทั้งการนำอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีหลายแสนคน เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อทำงานเข้าถึงประชาชนมากขึ้น เช่น วัดความดันโลหิต วัดชีพจร ตรวจหากลุ่มเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้าไปแออัดในโรงพยาบาล หากทำได้ ก็จะสามารถลดงบโรงพยาบาลได้ และประชาชนจะมีสุขภาพดียิ่งขึ้นด้วย

นายธนาธร หลัดกล่าวว่า อนค.สนับสนุนการกระจายอำนาจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าให้ สธ.ดูแล เนื่องจาก อปท.รู้จักประชาชนดีกว่าการรอการสั่งการจาก ส่วนกลางŽ

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ปชป.ยืนยันว่าหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดี มีประโยชน์ และเป็นหลักประกันของชีวิตว่า เจ็บป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ และยืนยันว่า ไม่ย้อนกลับไปเป็นระบบอื่นอีกแล้ว ไม่ว่าจะมีความจำเป็นในการระดมเงินเข้ามาสนับสนุนอย่างไร ต้องยืนยันหลักการว่า ไม่ควรเก็บเงินผู้ป่วย ณ จุดให้บริการŽ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปชป.เสนอ 1.ปรับปรุงระบบการขอรับงบประมาณ เพราะที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้งบตามที่ขอ ทำให้กระทบกับคุณภาพการบริการ ฉะนั้น ต้องทำระบบใหม่ให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น โดยเมื่อผู้เชี่ยวชาญ-คณะแพทย์คำนวณมาเท่าไร รัฐบาลต้องให้เงินอย่างครบถ้วน 2.โรคที่มีค่าใช้จ่ายมาก เช่น เบาหวาน มะเร็ง ไต ระบบต้องหาวิธีหาเงินเพิ่มเพื่อตอบสนอง 3.ระบบภาษีประเทศไทยไม่ก้าวหน้าเพียงพอ ต้องให้คนมีกำลังจ่ายจ่ายมากขึ้น เพื่อดูแลระบบนี้ และ 4.ปชป.จะเข้าไปดูแลระบบประกันสุขภาพเอกชนมากขึ้น เพื่อให้มีต้นทุนที่เป็นธรรม

นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า ปชป.จะไม่สนับสนุนโครงการเมดิคัล ฮับ เนื่องจากรัฐเป็นผู้ลงทุนผลิตแพทย์-บุคลากรทางการแพทย์ แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของเอกชน กลับนำทรัพยากรที่รัฐสร้างไปขยายผลเพื่อสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจของตัวเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องเข้าไปอุดหนุน

ขณะที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ไม่ว่ายากดีมีจน ทุกคนต้องเท่าเทียม และยืนยันว่า ทุกคนได้ ร่วมจ่ายŽ แล้วผ่านระบบภาษี
ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยทำได้ดีมากจนสหประชาชาติถึงขั้นประกาศให้เป็น เป้าหมายแห่งการพัฒนาของสหประชาชาติŽ และตั้งเป้าให้ภายในปี 2573 ทุกประเทศทั่วโลกต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีมาตรฐาน

“ส่วนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ นั้น เห็นว่าควรปล่อยให้ 3 กองทุน ยังเป็นแบบที่เป็นต่อไป เพียงแต่ต้องจัดระเบียบใหม่ โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานว่าอยู่ตรงไหนบ้าง และทำให้ทุกกองทุนมีสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน” Žนายสุวิทย์ กล่าวและว่า ไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เนื่องจากในระบบสุขภาพ บางคนอาจจน หรืออาจล้มละลายได้ เมื่อเจ็บป่วยในบางโรค ยืนยันว่ายังมีตัวเลือกอื่นๆ เพื่อให้ค่าบริการถูกลง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างร่วมทำให้ต้นทุนยาถูกลง หรือการปรับเปลี่ยน 3 กองทุนสุขภาพ ที่ยังคงมีความลักลั่น เหลื่อมล้ำ ให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งหากทำได้ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องให้ประชาชนสมทบ ณ จุดบริการ

รองหัวหน้าพรค พปชร.กล่าวอีกว่า พรรคมีนโยบายที่จะเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพราะเห็นว่า หากคนในชาติแข็งแรง มีการศึกษาที่ดี และมีรายได้ที่เหมาะสม จะทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บุคคลมีความมั่นคง และรัฐจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนให้มากที่สุด

“หลังจากนี้ โรงพยาบาลต้องเพิ่มการบริการลงไปในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมอครอบครัว ซึ่งเป็นหมอประจำตัว หรือการใช้สมาร์ทเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์การป้องกันโรค รวมถึงจะให้รางวัลกับคนที่ดูแลสุขภาพดี เช่น หากมีสุขภาพดีลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น”Ž นายสุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ ตัวแทนจากทั้ง 4 พรรค ต่างยืนยันหลักการ ไม่ ยุบŽ หรือ เลิกŽ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมย้ำว่า หลักการถ้วนหน้าต้องดำเนินต่อไป ไม่ถอยกลับไปเป็นระบบสงเคราะห์ เนื่องจาก 17 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าประชาชนได้ประโยชน์จริง รวมถึงทั่วโลกก็ให้การยอมรับ ถือเป็นการ ลงทุนŽ ในทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่ามาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image