ปธ.ควบคุมยาเสพติดฯติงนโยบายพรรคการเมืองปลูกกัญชาเสรี! กระทบอนุสัญญาสหประชาชาติ

‘ปิยะสกล’ ลงนามแล้ว! ร่างประกาศนิรโทษครอบครองกัญชา รอราชกิจจาฯ ไม่เกิน 26 ก.พ. พร้อมประชาพิจารณ์ร่างกม.ลูกตัวใหม่อีก 3 ฉบับ การอนุญาตปลูก ใช้ ตำรับยา ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ขณะที่ปธ.ควบคุมยาเสพติดระหว่างปท. ประกาศนโยบายหาเสียงกัญชาหวั่นขัดอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์  ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวถึงประเด็นกัญชาทางการแพทย์ ภายในงาน อย. จัดประชุมวิชาการแห่งชาติ  “ผลิตภัณฑ์สุขภาพไทย ปลอดภัย”   ว่า ขณะนี้ไม่ว่าเรื่องของผลิตภัณฑ์หรือการนำกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น อย.ก็ได้ทำงานในเชิงรุกในทุกด้าน โดยเรื่องที่สำคัญคือการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น อย.ได้ส่งข้อมูลให้ฝ่ายกฎหมายดูแล้ว และตนเองได้ลงนามไปแล้วเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (25 ก.พ.)  และคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่น่าเกินวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562  อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับนิรโทษกรรมได้ผ่านการสอบถามความคิดเห็นต่างๆ มีการประชาพิจารณาแล้ว เพื่อเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย  ส่วนเรื่องโรงงานยาสูบก็ต้องคุยในรายละเอียดต่อไป

ด้าน นพ.ธเรศ  กรัษนัยรวิวงค์   เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  กล่าวว่า  หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในร่างประกาศกฎหมายลูกเกี่ยวกับการนิรโทษการครอบครองกัญชา โดยจะละเว้นให้กับกลุ่มบุคคล 3 กลุ่ม คือ องค์กรวิจัย สถาบันการศึกษา แพทย์แผนไทยแพทย์แผนปัจจุบัน กลุ่มผู้ป่วย และบุคคลอื่นๆ หากมาแจ้งครอบครองภายใน 90 วันก็จะไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเมื่อท่านรัฐมนตรีฯ ลงนามแล้ว  ขั้นตอนต่อไป  คือ  รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา  คาดว่าไม่น่าเกิน 1-2 วันนี้ ซึ่งในส่วนของการเตรียมพร้อมรองรับการมาแจ้งการครอบครอง ได้เตรียมพร้อมหมดแล้ว ทั้งในส่วนกรุงเทพฯ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนภูมิภาค ก็จะเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ โดยใครที่มีกัญชาในครอบครองเมื่อมาแจ้งต้องนำของกลางมาด้วย แต่หากมีจำนวนมากเกินไปให้แจ้งทางหน่วยงานรัฐ จะมีคณะกรรมการตรวจรับในแต่ละจังหวัดพิจารณาเป็นรายๆไป

“การมาแจ้งการครอบครองที่ไม่ต้องนำกัญชามา ก็จะเป็นกลุ่มที่ 1 กับกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มองค์กรวิจัย สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ หรือแพทย์แผนปัจจุบันแพทย์แผนไทย เพราะจะต้องมีการแจ้งและแนบเอกสารหลักฐานโครงการวิจัย หรือการศึกษากัญชาทางการแพทย์ จำนวนปริมาณที่ใช้ เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยก็จะต้องแนบใบรับรองการป่วยจากแพทย์ จะมีก็เพียงกลุ่มที่ 3 ที่ต้องนำกัญชามาส่งให้หน่วยงานรัฐเก็บไว้ และหากจะขออนุญาตครอบครองก็ต้องทำตามกฎระเบียบที่กำหนด” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าคาดว่าหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีคนมาแจ้งการครอบครองมากหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ก็ต้องรอดูก่อน เนื่องจากช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่มาก เพราะอาจจะขอเวลาดูท่าที หรือเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเอกสาร หลักฐาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรากำลังเตรียมพร้อมเรื่องคำแนะนำต่างๆ อย่างสายด่วนอย. 1556  กด 3 เป็นการตอบคำถามประเด็นกัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งจะเปิดบริการวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ในวันและเวลาราชการ

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการออกอนุบัญญัติ หรือกฎกระทรวงมารองรับพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7)  พ.ศ.2562 ยังมีกฎกระทรวงอื่นๆอีก ซึ่งกำลังทยอยทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้เกิดระบบที่ดีที่สุด ซึ่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์  จะมีการรับฟังความคิดเห็นแบบโฟกัสกรุ๊ปร่างอนุบัญญัติ 3 ฉบับ คือ 1.ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา   2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. … และ 3.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วย วิชาชีพการแพทย์แผนไทย ที่จะสามารถปรุงและสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ พ.ศ.  อย่างไรก็ตาม ร่างกฎกระทรวงเหล่านี้ได้เริ่มรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23-25 กุมภาพันธ์แล้ว

วันเดียวกัน  นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่   ประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ(INCB)  กล่าวถึงนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งเกี่ยวกับกัญชา ที่มีการชูปลูกเสรี ภายในงานประชุมวิชาการแห่งชาติของ อย. ว่า    เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากไทยเข้า ร่วม ภาคีเครือข่ายอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะสามารถใช้กัญชาได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น และหากในอนาคตไทยต้องการที่จะปลูกกัญชาเสรี ต้องออกจาก อนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ในหลายๆอย่าง ในการซื้อขาย นำเข้า ยาต่างๆ ที่รักษาโรค  โดยไทยเข้าร่วมอนุสัญญาดังกล่าว ตั้งแต่พ.ศ.  2504  โดยทั่วโลก มี196 ประเทศ ที่เข้าร่วมอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ

Advertisement

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า  หลายประเทศปลูกกัญชาเสรีได้ ว่า ในหลายประเทศฝ่าฝืนกฎหมาย  เช่น สหรัฐอเมริกาที่หลายรัฐมีการปลูกกัญชาเสรี   ซึ่งทาง รัฐบาลกลาง สหรัฐอมริกา ไม่เห็นด้วยกับทุกรัฐที่ปลูกกัญชาหรือให้ประชาชนสูบกัญชาอย่างเสรี เนื่องจากเป็นการขัดต่อกฏหมายของรัฐบาลกลางอย่างรุนแรง รัฐบาลกลางจึงมีการดำเนินนโยบายที่จะจัดการกับรัฐพวกนี้อยู่   ซึ่งทางสหประชาชาติจะไม่เจรจาโดยตรงกับแต่ละรัฐ หน่วยงานที่จะเจรจา คือรัฐบาลกลางเท่านั้น  ส่วนกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ที่ รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอยู่นั้น สอดคล้องกับสนธิสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ ที่ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้  ซึ่ง ทาง INCB ได้ติดตามการดำเนินงานของไทยในเรื่องกัญชามาโดยตลอด     ส่วนกระบวนการออกกฎหมาย  นิรโทษกัญชา ที่ไทยทำอยู่นั้น อยู่ในสนธิสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ ของสหประชาชาติ ที่ทำได้ และเห็นว่า ครอบคลุม ซึ่งในหลายประเทศก็มีการทำในลักษณะเช่นนี้

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image