เครือข่ายงดเหล้าจ่อยื่น สตช. 26 ก.พ. เอาผิดโทษดื่มเหล้าในวัด จำคุก 6 เดือนปรับ 1 หมื่น

เครือข่ายงดเหล้าจ่อยื่น สตช. 26 ก.พ. เอาผิดโทษดื่มเหล้าในวัด จำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับ 1 หมื่น ชี้งานบุญงานบวชควรปลอดเหล้า เหตุผิดทั้งศีลทั้งกม.      

จากกรณีแก๊งวัยรุ่นเมาบุกเข้าทำร้ายครู นักเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ระหว่างการจัดสอบแบบทดสอบความถนัดทางวิชาการหรือวิชาชีพ หรือ PAT ในการสอบความถนัดทางวิชาชีพครู (PAT5) หลังถูกโรงเรียนแจ้งเตือนให้ลดเสียงจากการจัดงานบวชเสียงดัง

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์  ที่โรงแรมเอเชีย  ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)  กล่าวถึงกรณีนี้ ภายในงานเสวนา “ถอดรหัสสงกรานต์ งดขายสุรา 13เมษา ลดอุบัติเหตุ” ว่า โดยหลักการก็ไม่เหมาะสมอยู่แล้วที่มาดื่มน้ำเมาภายในวัด และถามว่าในงานบุญงานบวชจัดขึ้นเพื่ออะไร การมาดื่มเหล้าก็ผิดศีลข้อ 5 ใช่หรือไม่ จริงๆ ชาวพุทธน่าจะตระหนักในเรื่องนี้  ควรทำให้วัดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามทำอะไรในสิ่งที่ไม่ควรทำ รวมไปถึงการดื่มเหล้า ดังนั้น วัดจึงควรเป็นเขตปลอดเหล้า ซึ่งในทางกฎหมายก็กำหนดเอาไว้อยู่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในมาตรา 31 ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา

“เท่าที่ติดตามดูจากข่าว ยังไม่มีการพูดเรื่องของการเอาผิดผู้ก่อเหตุที่ดื่มน้ำเมาในวัดเลย ซึ่งมีบทลงโทษอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งทางตำรวจอาจจะยังดูไม่ทั่วถึง ดังนั้น ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ทางเครือข่ายจะเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอให้ตำรวจดูในเรื่องเอาผิดการดื่มเหล้าในวัดหรือศาสนสถานด้วย ซึ่งหลังๆ ก็มีคลิปออกมาชัดเจนว่าเมา โดยตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ภก.สงกรานต์ กล่าวและว่า จะยื่นพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ด้วยเช่นกัน

Advertisement
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า  จริงๆ พระในวัดก็คงไม่อยากให้ใครมาดื่มและสร้างปัญหาในวัด แต่ทางเจ้าอาวาสก็ต้องกำกับดูแลไม่ให้มีการดื่มในวัดด้วย ซึ่งหากวัดใดที่พระมีบารมีมาก คนเชื่อฟังก็ไม่น่ามีปัญหา โดยเฉพาะวัดสายปฏิบัติคงไม่มีใครกล้าเข้าไปดื่ม แต่บางวัดขึ้นอยู่กับกรรมการวัดมากกว่า ดังนั้น ก็ต้องพูดถึงกรรมการวัดด้วย ซึ่งจริงๆ ก็คือชุมชุน ที่ต้องช่วยกันทำมาตรการนี้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ถ้าชุมชนเอาจริงอาจศักดิ์สิทธิ์กว่า เพราะหลายพื้นที่ที่มีกฎเคร่งครัดก็ควบคุมได้ แม้ไม่มีกฎหมายยังทำได้ เช่น งานศพปลอดเหล้า กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่เป็นข้อตกลงในชุมชน ซึ่งเขารู้ว่างานที่มีเหล้าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และสร้างปัญหาตามมา ทั้งทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ แล้วคนเป็นเจ้าภาพจัดงานคิดดูว่า เมื่อมีคนมาดื่มเหล้าในงานเรา งานบุญ งานศพ แล้วออกไปเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต เจ้าภาพอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้ งานนั้นยิ่งเป็นงานมงคล แทนที่จะได้บุญกลับได้บาปแทน

นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี  ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า งานบุญที่ต้องมีสุราเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นค่านิยมที่ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องปกติของคนไทยจำนวนมากหรือไม่ ทั้งที่ความจริงแล้วขัดหลักศาสนาทั้งศีล 5 และกฎหมายที่ห้ามดื่มในวัด จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเอาค่านิยมนี้เข้ามาในงานบุญงานบวช ใครที่เอาวัฒนธรรมนี้เข้ามา คิดว่าจะต้องล้างใหม่คิดใหม่ งานบวชงานบุญไม่ควรจะต้องมีแอลกอฮอล์ การมีจะเพิ่มโอกาสเหตุร้ายหลายอย่าง ยิ่งมีการรวมตัวของวัยรุ่น ยิ่งมีความคึกคะนอง และมีการเร้าอารมณ์ด้วยเสียงเพลง ด้วยแอลกอฮอล์ และมีจุดที่ทำให้จี้กับจุดเดือดอารมณ์บางอย่าง ทำให้สามารถกระทำอะไรที่อยู่เหนือความคาดหมาย

นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวว่า การดื่มในงานประเพณีเกิดขึ้นจากการตลาดที่ธุรกิจน้ำเมาพยายามส่งเสริมให้คนไทยทุกครั้งที่มีงานรื่นเริงหรือรวมตัวกัน ต้องดื่มต้องกิน จึงต้องทำการตลาดสวนกลับ ในการทำการตลาดชวนเชื่อ ว่าสิ่งน้ำเมาไม่ได้ทำให้การพบปะมีความหมายมากขึ้น อย่างกรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นจุดหนึ่งที่จะสื่อสารว่า งานบุญงานทางศาสนา ไม่ควรมีจะมีของมึนเมาเข้ามา ซึ่งแต่ละศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็ไม่มีศาสนาไหนส่งเสริมให้คนเมาหัวราน้ำ

Advertisement
นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image