ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมยื่นครอบครองกัญชา ดีใจไม่ต้องระแวงถูกจับ ทำเข้าถึงรักษาได้ถูกกม.

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เปิดจุดวันสต๊อฟ เซอร์วิส ที่ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ ชั้น 2 อาคาร 6  โดยวันแรกวันแรกของการรับขึ้นทะเบียนการครอบครองกัญชามีผู้สอบถามมายังสายด่วน 1556 กด 3 จำนวนมาก และขอมาแจ้งครอบครอง 4 รายนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์   ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการแจ้งการครอบครองกัญชาวันที่ 2      ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศร่างกฎหมายนิรโทษฯ  โดยที่ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ ชั้น 2 อาคาร 6  บรรยากาศยังคงมีผู้สอบถามผ่านทางสายด่วน อย.1556 กด 3 อย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเช้ามีผู้มาสอบถาม 2 ราย เป็นกลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มขอครอบครองกัญชา ซึ่งระบุว่าเป็นผู้แทนของแพทย์แผนโบราณที่มีการใช้กัญชารักษาโรค อย่างไรก็ตาม  อย.ได้จัดทำคู่มือการแจ้งการครอบครองกัญชา สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. http://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/SitePages/MARIJUANA62.aspx

นายธนาธิป รัตนโรจน์ ผู้รับมอบจากแพทย์แผนโบราณ  กล่าวว่า ตนมาเป็นตัวแทนของมารดา ซึ่งเป็นแพทย์แผนโบราณที่เปิดรักษาผู้ป่วยมากว่า 30 ปี และการมาในครั้งนี้ เพื่อต้องการขออนุญาตปลูกและครอบครองกัญชาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย เบื้องต้นได้นำภาพถ่ายต้นกัญชาจำนวน 14 ต้นซึ่งเป็นการปลูกแบบรากลอย  มายื่นให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย ทั้งนี้ในการรักษาที่ผ่านมาของมารดาก็มีการใช้กัญชาเป็นส่วนผสม ทั้ง ในกลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสัน มะเร็งระยะท้ายๆ และเด็กที่มีอาการชัก เป็นต้น โดยในการนำกัญชามาใช้รักษาโรคก็ใช้หลายวิธีในการสกัด มีทั้งการสกัดร่วมกับน้ำมันมะพร้าวและวิธีอื่นๆ เพราะแต่ละโรคใช้ปริมาณกัญชาไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การเปิดให้นิรโทษกรรมถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษา

นายธนาธิป รัตนโรจน์

“ส่วนที่จะมีการจัดอบรมการใช้ให้กับกลุ่มแพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบัน และกลุ่มอื่นๆนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีและไม่ยุ่งยากเพราะที่ผ่านมาผู้ดำเนินการก็จะรู้ว่าต้องใช้กัญชาอย่างไรอยู่แล้ว และถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ไม่ต้องออกไปทำการวิจัย นอกจากนี้อยากให้มองว่าการให้ครอบครองกัญชานั้น จะได้ประโยชน์กับผู้ป่วยจริงๆ ส่วนกลุ่มที่จะนำไปใช้เรื่องการเสพเชื่อว่ามีน้อย กว่ากลุ่มผู้ป่วยมาก จึงอยากให้ยึดประโยชน์ผู้ป่วยเป็นหลัก” นายธนาธิป กล่าว

Advertisement

ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ได้นำสารสกัดกัญชา ขนาด 5 ซีซี มาสำแดงกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอครอบครองกัญชา พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาตนเองมีการสารสกัดกัญชา มาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  ทั้งนี้  ที่ผ่านมามีผลข้างเคียงจากการใช้คีโม จึงหันมาใช้กัญชาช่วยแทน     และเห็นว่า การสารสกัดจากกัญชามาขึ้นทะเบียนจากนี้ จะทำให้ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกตำรวจดำเนินคดี

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการแพทยสภา กล่าวถึงการแจ้งการครอบครองว่า  ในส่วนของการแจ้งขึ้นทะเบียนครอบครองกัญชาตามประกาศกระทรวงเรื่องนิรโทษครอบครองกัญชานั้น  ตนกำลังศึกษาข้อมูลการขึ้นทะเบียนครอบครองอยู่ ว่าจะแจ้งครอบครองในฐานะทั้งผู้ใช้ และผู้จ่าย เพราะตนมีภาวะที่ไม่อยากทานยา เนื่องจากปวดหลัง ปวดข้อเข่าอยู่ ก็สามารถใช้ได้ และตนก็จะขึ้นทะเบียนครอบครองในฐานะผู้จ่าย เพราะมองว่ากัญชารักษาโรคได้ ทั้งอาการแข็งเกร็ง ปวดทรมาน โรคลมชัก เป็นต้น

“ในวันที่ 1 มีนาคม  จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย เวลา 13.30 น. ผมก็จะแวะไปที่ อย. เพื่อสอบถามรายละเอียดการขึ้นทะเบียน หากพร้อมก็จะแจ้งขึ้นทะเบียนเลย นอกจากนี้ จะขอทวงถามทาง อย.ด้วยจากกรณีการหารือร่วมกันของสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับทางอย. เรื่องที่เคยถามว่า  ปัจจุบันการจะมาขออนุญาตปลูกนั้นต้องมาในรูปวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเกษตรกรต้องรวมตัวกัน 7 คนขึ้นเป็นวิสาหกิจชุมชนนั้น ค่อนข้างลำบาก   สภาเกษตรกรแห่งชาติเคยหารือกับ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  ว่า คนที่ปลูกกัญชาเพื่อรักษาโรคสามารถมาขึ้นทะเบียนกับสภาเกษตรกรแห่งชาติได้หรือไม่  และค่อยให้สภาเกษตรฯไปขึ้นทะเบียนแทน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในเรื่องของการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชานั้น  ม.รังสิต ที่มีการวิจัยในล็อตแรกนั้น ไม่จำเป็นต้องมีการขอนิรโทษกรรม เนื่องจากได้ขออนุญาตครอบครองกัญชา จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด( ป.ป.ส.)   และเป็นของกลางยาเสพติดให้โทษ ซึ่งขออนุญาตที่ถูกต้อง และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีการขอการวิจัยกัญชาอย่างถูกตามกฎหมาย   จึงไม่เข้าข่ายที่จะต้องมีขอวิจัย แต่อนาคตหากยังมีการวิจัยเพิ่มเติม หรือมีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกัญชา ก็จะต้องมีขออนุญาตเพิ่ม ซึ่งต้องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ แผนความร่วมมือเกี่ยวกับกัญชา ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ที่จะทำร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการทำร่างข้อตกลงร่วมกัน ว่า จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน  โดยคาดว่า จะเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image