เจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ เตือนงานบวชอย่าใช้บุญแลกบาป จัดขบวนไม่ใช่วิถีพระพุทธเจ้า

พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์

พระปัญญานันทมุนี ย้ำ “บวช” คือละเว้น ไม่ทำตัวเองตกต่ำ   ชี้จัดขบวนใหญ่โตไม่ใช่วิถีพระพุทธเจ้า ขอให้เป็นงานบวชบริสุทธิ์ ไร้สิ่งแอบแฝงทั้งเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด  ด้านเครือข่ายงดเหล้าเผยผลสำรวจคนส่วนใหญ่เห็นด้วยงานบุญปลอดเหล้า

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง  พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ กล่าวในงานเสวนา “บุญไม่เปื้อนบาป ถอนน้ำเมาจากงานบุญ” จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าการจัดงานควรจะต้องให้ความเกรงใจต่อวัดและการบวช โดยการบวชต้องเดินตามอย่างพระพุทธเจ้า ซึ่งตอนพระองค์ท่านทรงออกผนวช มีเพียง 3 ชีวิต คือ พระองค์ นายฉันนะ และม้ากัณฐกะ ไม่มีสิ่งอื่นใดมาแอบแฝงจากนี้เลย ซึ่งพระองค์ก็สามารถผนวชได้ตลอดพระชนม์ชีพ ไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียว เหตุใดจึงเอาวิธีของพระพุทธเจ้ามาย่ำยี บวชต้องเสียเงิน 2-3 แสนบาท นี่ไม่ใช่บวช เพราะอย่าบวชแล้วต้องพบกับคำว่า ยิ่งบวชยิ่งจน ยิ่งเลว ยิ่งชั่ว พ่อแม่พาลูกมาบวชเพื่อให้ตระกูลนี้ดี ไม่ใช่บวชเพื่อเป็นประวัติศาสตร์แห่งความชั่ว ถ้าบวชแล้วนิสัยไม่ดีขึ้น อย่างนี้คือ ทำลายตระกูลตัวเอง ทำลายพระศาสนา เป็นภัยร้ายที่เราควรจะต้องแก้ไข

“พระพุทธเจ้าตอนออกผนวชไม่ต้องมีกองเชียร์ กองเชียร์กี่คนที่มีศีลมีธรรมไปร่วมพิธี ทั้งนี้ การบวช คือ ต้องไม่ทำสิ่งเลอะเทอะในวัด เพราะการบวชแปลว่างดเว้น ผู้บวชต้องงดเว้น ลด ละ เลิก ไม่ทำให้ตัวเองตกต่ำอีกแล้ว เรียกว่า คนมาบวชต้องฝึกตนเป็นผู้เป็นคนแล้ว ผู้มาร่วมบวช ก็ต้องให้การบวชเป็นการบูชาต่อพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ย่ำยี จัดขบวนใหญ่โตมโหฬาร หยุดสิ่งเหล่านั้นก็ได้บุญแล้ว ขอให้เป็นงานบวชที่บริสุทธิ์ สิ่งที่แอบแฝงทั้งหมด ไม่ใช่วิธีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่เคยมีคำสอนไว้ให้การบวชคือมั่วสุม ซึ่งคำว่า “สามัคคี” กับ “มั่วสุม” อยู่ในเวลาเดียวกัน สามัคคี แปลว่า ผู้อยู่ในศีลในธรรมคือสามัคคีกัน แต่ผู้ใดมารวมกลุ่มเอาสุรา บุหรี่ กัญชามาเป็นเหตุ ไม่ใช่สามัคคี เรียกมั่วสุม ก็จะง่ายต่อการพาหมู่คณะไปสู่คุกสู่ตะราง แต่ก็ไม่เท่าติดกรรม นำไปสู่นรกอย่างไม่มีทางเลี่ยง ในที่สุดเวลาแห่นาค สังเกตดู ไม่รู้ว่าแห่ไปสวรรค์หรือนรก ดังนั้น ถ้าต้องการไปสวรรค์ ก็อย่าทำนรกก่อนที่จะถึงสวรรค์” พระปัญญานันทมุนีกล่าว

พระปัญญานันทมุนีกล่าวว่า สำหรับการบวชของวัดชลประทานฯ เรามีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในงานบวช โดยผู้จะมาบวชต้องทราบกติกาการบวชก่อน แล้วมาสมัครเป็นระบบ ซึ่งที่วัดจะจัดอุปสมบททุกวันที่ 1 ของเดือน โดยผู้บวชต้องปฏิบัติตัวพร้อมที่จะเป็นผู้บวช คือ งดเว้นสิ่งสกปรกทั้งหมด วัดนี้ใครมาบวช ต้องหยุดแม้กระทั่งกาแฟ ถ้าหยุดกาแฟไม่ได้ ก็ต้องไปเอากาแฟเป็นสรณะ ต้องหยุดดื่มเหล้า หยุดสูบบุหรี่ ซึ่งจะมีการรับสมัครทุกวันอาทิตย์ที่สองของทุกเดือน ก็ให้ดูระเบียบแล้วไปฝึกตนอย่างน้อย 15 วัน หรือ 1 เดือน ไปฝึกตัวเองทุกเรื่อง ตอนรับสมัครแล้ว ยังไม่ใช่ผู้มีสิทธิในการบวช ต้องมาสอบก่อน ไม่ใช่สอบเฉพาะผู้บวช ต้องถามพ่อแม่ จะให้ลูกบวชหรือสร้างนรกให้ลูก หรือสร้างหายนะให้แก่ครอบครัว ซึ่งเราเน้นตามหลักของพระพุทธเจ้า คือ 1.ระเบียบ 2.เรียบง่าย 3.ประหยัด 4.ทำแล้วเกิดประโยชน์ และ 5.ถูกต้องตามธรรมวินัย ซึ่งหากเกินไปเมื่อไรถือว่าเป็นบาป

Advertisement

“เราต้องรู้ว่ามาสร้างบาปหรือบุญ ทำบุญแลกบาปนั้นไม่สำเร็จหรอก ต้องทำบุญให้เป็นบุญ เมื่อสอบผ่านเรียบร้อย พ่อแม่เห็นด้วย ก็มาเข้าวัดเป็นนาคก่อนวันอุปสมบท เพื่อรับทราบข้อปฏิบัติ และโกนผม ซึ่งคนที่จะตัดผมเพื่อเป็นมงคลก็คือพระ เพราะการโกนผม คือ แม้แต่ของที่ตัวเองหวงแหนก็กล้าตัดออกแล้ว ดังนั้น ญาติโยมทั้งหลายที่มาก็ไม่ใช่ว่าต้องมาโกนเล่นสนุก ถ้ายังไม่สามารถตัดโลภโกรธหลง อิจฉาพยาบาท ถ้าทำไม่ได้อย่าไปตัดผมเขา เพราะไม่ใช่ที่เล่น ควรเป็นปู่ย่าตายายที่มีประวัติชีวิตที่ดีงาม แล้วอยู่ประจำวัด แล้ววันบวชจึงรับศีลเป็นสามเณรเบื้องต้น ซึ่งเสร็จแล้วตรงนี้พ่อแม่ญาติโยมสามารถกลับบ้านได้ เพราะการอุปสมบทเป็นหน้าที่ของพระ ซึ่งการส่งพระเข้าโบสถ์ ไม่เห็นต้องแห่อะไร มีขาเดินเองได้ ก็เดินไปหาพระพุทธเจ้า ไม่มีคำว่าต้องไปเวียนโบสถ์ มีระเบียบตรงไหนว่าถ้าไม่เวียนจะเข้าโบสถ์ไม่ได้” พระปัญญานันทมุนีกล่าว

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวว่า จากข้อมูลที่เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อการดื่มแอลกอฮอล์ในวัด โดยสำรวจประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 1,000 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ. 2562 พบว่า ร้อยละ 73.4 เห็นด้วยว่า ไม่ควรมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญ เช่น งานบวช งานศพ ร้อยละ 77.2 บอกว่าผู้มาร่วมงานไม่ควรดื่ม แต่เมื่อถามว่าเคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณีหรือไม่ กว่าร้อยละ 34.7 ระบุว่า เคยดื่มในงานบวช ร้อยละ 36.95 ระบุว่า เคยดื่มในงานทอดผ้าฝ่า กฐิน สำหรับเหตุผลที่งานบุญประเพณีต้องมีเหล้า ร้อยละ 30.9 มองว่า เพราะความสนุกสนาน ร้อยละ 27.2 เป็นการพบปะสังสรรค์ของคนในท้องถิ่น ร้อยละ 19.1  เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และร้อยละ 13 เป็นการแสดงมีหน้ามีตาในสังคม ที่น่าห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 20.4 ไม่ทราบว่าดื่มเหล้าในวัดผิดกฎหมาย

Advertisement

ภก.สงกรานต์กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79.3 เห็นด้วยว่า งานบุญประเพณี งานบวช งานศพ ต้องปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 91.1 ทราบข่าวกรณีคนเมาในงานบวชอาละวาดที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ซึ่งร้อยละ 78.1 มองว่า การดื่มเหล้าเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดความรุนแรงดังกล่าว ซึ่งผลสำรวจสะท้อนชัดเจนว่า เราเน้นความสำราญกันจนเกินขอบเขตไปมาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดระเบียบ สร้างค่านิยมงานบวชงานบุญกันใหม่ ก่อนที่วัฒนธรรมประเพณีจะเสื่อมถอยไปมากกว่านี้ ความเชื่อผิดๆ ที่ว่างานบุญงานบวชต้องมีเหล้า ท้ายที่สุดนอกจากจะบาปแล้วยังกลายเป็นตราบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นในสังคม ไม่เฉพาะต่อคนที่ดื่มและไปก่อเรื่องเท่านั้น แม้แต่พระหรือเจ้าภาพจัดงานก็เดือดร้อนไปด้วย หน่วยงานต่างๆ เกี่ยวข้องกับศาสนาคงต้องจริงจังในเรื่องนี้ ทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กรมการศาสนา (ศน.) มหาเถรสมาคม (มส.) ในการเข้มงวดกับกฎกติกา แค่ขอความร่วมมือคงไม่พอ ต้องนำกฎหมายที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือป้องกันแก้ไขด้วย

“คนบวชเพื่อให้ตนเองพ้นทุกข์ และช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ พอมีน้ำเมาเข้ามา ก็ทุกข์หมดเลยทั้งคนร่วมงาน สังคมเดือดร้อน อย่างคติไทยที่ว่าการบวชลูกหลานเป็นการเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ซึ่งการชักชวนให้พ่อแม่ปฏิบัติธรรม ลดอบายมุขต่างๆ เป็นการพาขึ้นสวรรค์อย่างแท้จริง แต่พอมีน้ำเมาเข้ามาได้บาปกันหมด เพราะน้ำเมาเป็นอบายมุขไม่สืบทอดพระพุทธศาสนา ที่สำคัญยังเพิ่มค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 เท่า และหากเกิดปัญหาขึ้นมาหลังงาน เช่น เกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท เจ้าภาพอาจเสียใจไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ นักกฎหมายมีการตีความว่า เจ้าภาพ เจ้าอาวาสต่างๆ จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ที่สนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดในวัดในฐานะเจ้าของสถานที่” ภก.สงกรานต์กล่าว

นายวันชัย เหี้ยมหาญ แกนนำงานบวชปลอดเหล้า ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กล่าวว่า ต.ทุ่งหลวง เป็นชุมชนชาติพันธุ์ไทยทรงดำ มีการดื่มเหล้าประจำในวิถีชีวิตและพิธีกรรม เวลาจัดงานบวชแต่ละครั้งจะจัด 3-4 วัน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะหมดไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น วันเตรียมงานเลี้ยง เบียร์ และเหล้าขาว วันละ 10-20 ลัง วันเลี้ยงฉลองนาค 30 ลัง วันแห่นาคเข้าโบสถ์ 10 ลัง ทำให้เกิดผลกระทบที่ชัดเจน คือ การทะเลาะวิวาท ยิ่งปัจจุบัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีกรีสูง รถแห่มีเสียงที่ดัง และดนตรีที่จังหวะปลุกเร้า มีโคโยตี้เต้นยั่วยวน ทำให้เมาง่ายและเมามาก ทำให้การยั่วยุทางอารมณ์ ควบคุมสติได้ยาก เกือบทุกครั้งมีเหตุการณ์วัยรุ่นเมาและทะเลาะวิวาท ระหว่างพิธีแห่นาครอบโบสถ์จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ ต.ทุ่งหลวงปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่ พัฒนาการงานบวชให้เป็นงานปลอดเหล้า ลดจำนวนวันจัดงานเหลือเพียง 1 วัน  ลดกิจกรรมลง เช่น การทำขวัญนาค ที่ต้องจ้างหมอขวัญราคาแพง เปลี่ยนมาเป็นเทศน์สอนนาคโดยพระสงฆ์ และเปลี่ยนจากค่าหมอขวัญเป็นชาวบ้านช่วยกันติดกัณฑ์เทศน์ ปรับการเลี้ยงโต๊ะจีนเป็นเลี้ยงอาหารพื้นบ้าน และเมนูอาหารจานเดียว ซึ่งคนในชุมชนยอมรับ การจัดงานบุญที่ไม่เปื้อนบาป ไม่มีเหล้ายาเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ไปสร้างความเสื่อมให้วัดและพุทธศาสนา ถือเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image