ชาวบ้านริมโขง-เอ็นจีโอ ยินดี หากจีนยกเลิกระเบิดแก่งจริงๆ

แฟ้มภาพ

กรณีข่าว ที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ฝ่ายจีนเห็นพ้องว่าจะยกเลิกการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง และฝ่ายจีนรับทราบข้อกังวลต่างๆ นั้น

วันที่ 9 มีนาคม น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า ตนมีข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็นดังนี้ คือ โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เกิดจากข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ แม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ที่ลงนามระหว่าง 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย เมื่อปี 2543 โดยจะทำให้แม่น้ำโขงตอนบนเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ จากท่าเรือซือเหมา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ลงมาจนถึงหลวงพระบาง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว โดยมีการระเบิดแก่งและปรับปรุงร่องน้ำไปแล้วในช่วงพรมแดนพม่า-ลาว ลงมาจนถึงสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อย่างไรก็ตามการดำเนินการต้องได้รับการยอมรับจากเจ้าของพื้นที่ แต่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ระหว่างแขวงบ่อแก้ว และ จ.เชียงรายไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากข้อกังวลของประเทศไทยทั้งเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการปักปันพรมแดนไทย-ลาวที่ยังไม่มีข้อยุติ

น.ส.เพียรพรกล่าวว่า ข้อมูลที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าเป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายจีนได้พยายามผลักดันโครงการระเบิดแก่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ.2015-2025 และการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เห็นชอบในหลักการให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงานหลักในการดำเนินการตามแผน และให้กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรมแผนที่ทหารไปพิจารณาประกอบการดำเนินการด้วย โดยเฉพาะในประเด็นการกำกับงานศึกษา สำรวจ ออกแบบโครงการไม่ให้ส่งผลกระทบทางกายภาพต่อแม่น้ำในส่วนที่เป็นเส้นเขตแดน และการดำเนินการมิให้ฝ่ายไทยเสียท่าทีในการเจรจาทางเทคนิคเพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในแม่น้ำโขงภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-ลาวในอนาคตต่อไป

Advertisement

ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2560 บริษัทจีน CCCC Second Harbor ได้ดำเนินการสำรวจทางอุทกธรณีวิทยา อุทกวิทยาและชลศาสตร์ บนแม่น้ำโขงพรมแดนไทยลาว 96 กม. โดยได้ดำเนินการสำรวจจำนวน 15 จุด 168 หลุมเจาะ และได้ว่าจ้างบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการรวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสังคม และจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ระยะทาง 2 กม. จากริมฝั่งแม่น้ำโขง ฝั่งประเทศไทย จ.เชียงราย ตลอดแนวชายแดน ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น

น.ส.เพียรพรกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัททีมฯได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน ซึ่งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าร่วมส่วนใหญ่แสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยจีนและความมั่นคง ผลกระทบทางกายภาพของแม่น้ำโขง ที่มีผลต่อเส้นแบ่งพรมแดน และการระเบิดแก่งที่ไม่กระทบการเปลี่ยนแปลงทางน้ำนั้นเป็นไปได้ยาก

“ดิฉันได้เข้าร่วมเวที 2 ครั้งที่ อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน ซึ่งรองประธานบริษัทจีนได้มานำเสนอผลการศึกษาด้วยตนเอง และเห็นชัดเจนว่าจีนมีความพยายามในการเดินหน้าโครงการ ซึ่งไม่สามารถดำเนินไปถึงหลวงพระบางได้ เนื่องจากติดที่คอขวดบริเวณพรมแดนไทยลาว อย่างไรก็ตามข่าววันนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากเป็นเรื่องจริงที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ให้ความสนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของประชาชนตอนล่าง เพราะเป็นข้อกังวลและผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงของชาวบ้านที่เรียกร้องมาตลอดกว่า 20 ปี หากรัฐบาลจริงใจ ควรมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ารัฐบาลจีนจะยกเลิกโครงการระเบิดแก่งจริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขง” น.ส.เพียรพรกล่าว

อนึ่ง แม่น้ำโขงตอนบนในจีนมีการก่อสร้างเขื่อนแล้วถึง 10 เขื่อน โดยเขื่อนล่างสุดคือ เขื่อนจิงหง ที่สิบสองปันนา ซึ่งห่างจากพรมแดนไทยเพียง 340 กม. ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเกิดความผันผวนของระดับน้ำและระบบนิเวศแม่น้ำโขงตอนบน กระทบต่อปลาและการประมง เกษตรริมโขง และเศรษฐกิจของชุมชน โดยไม่มีการแก้ไขบรรเทาปัญหาแต่อย่างใด ล่าสุดช่วงวันหยุดตรุษจีนที่เรือจีนหยุดการเดินเรือ แม่น้ำโขงลดระดับลงอย่างมาก และระดับน้ำกลับเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเขื่อนระบายน้ำเพื่อให้เดินเรือสินค้าช่วงหลังวันหยุด ซึ่งสร้างผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก และแม่น้ำโขงทางตอนล่าง ยังโครงการเขื่อนไซยะบุรี ในแขวงไซยะบุรี กำลังดำเนินการทดลองผลิตไฟฟ้า และกำลังส่งผลกระทบต่อท้ายน้ำไปถึงภาคอีสาน ตั้งแต่ อ.เชียงคาน จ.เลย ลงไปจนถึง จ.อุบลราชธานี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image